คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3477/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยพูดกับผู้เสียหายว่า “ถ้ามึงไม่ไป เอารถมาให้กู” นั้น แต่ผู้เสียหายมิได้ให้รถจักรยานยนต์แก่จำเลยไปและจำเลยมิได้แย่งเอารถจากผู้เสียหาย คำพูดของจำเลยจึงมีความหมายเพียงเพื่อต้องการบีบบังคับผู้เสียหายให้ขับรถไปส่งตนเท่านั้น มิได้มีเจตนาจะเอารถไปจากความครอบครองของผู้เสียหายในขณะนั้นแต่อย่างใด หากจำเลยประสงค์จะชิงเอารถที่ผู้เสียหายขับไป ก็น่าจะให้ผู้เสียหายขับรถไปในที่เปลี่ยวแล้วบังคับให้ผู้เสียหายลงจากรถหรือทำร้ายผู้เสียหาย ย่อมเป็นการสะดวกในการชิงทรัพย์มากกว่าที่จะบังคับให้ผู้เสียหายขับรถเข้าไปในเมือง ทั้งผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนดังนั้นการที่จำเลยชักปืนออกมาจี้บังคับผู้เสียหาย น่าเชื่อว่าเพื่อให้ผู้เสียหายยอมตามและขับรถไปส่งในเมืองเท่านั้น หาใช่เพื่อให้ผู้เสียหายมอบรถจักรยานยนต์ให้ไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ขณะเกิดเหตุมีเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองอยู่ห่างจากจำเลยประมาณ 5 เมตร ถ้าจำเลยถือปืนจ้องเล็งมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจคงไม่ทันร้องบอกให้จำเลยวางปืนหรือยิงปืนขู่ก่อน จำเลยอาจยิงเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ทันที แต่ผลการตรวจชันสูตรบาดแผลที่จำเลยถูกยิง และวิถีกระสุนปืนล้วนแต่เข้าทางด้านหลัง แสดงว่าจำเลยหันหลังวิ่งหนีและถูกเจ้าพนักงานตำรวจยิง น่าเชื่อว่าเมื่อจำเลยเห็นเจ้าพนักงานตำรวจ คงเกิดความกลัวตามสัญชาตญาณของคนร้ายและวิ่งหนีทันทีมิใช่ถือปืนจ้องไว้เฉย ๆ หรือจ้องจะต่อสู้เจ้าพนักงานตำรวจ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาไม่พอฟังลงโทษจำเลยฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72,72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 339, 340 ตรี, 91 ริบอาวุธปืน และกระสุนปืนของกลาง และคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่ปฏิเสธความผิดฐานชิงทรัพย์และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 80, 138 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามชิงทรัพย์ จำคุก 10 ปี ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพกพาอาวุธปืนจำคุก 6 เดือน ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพฐานชิงทรัพย์และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำเลยให้การรับสารภาพฐานมีและพกพาอาวุธปืน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ฐานพยายามชิงทรัพย์ จำคุก 6 ปี 8 เดือน ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานจำคุก 8 เดือน ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพกพาอาวุธปืนจำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 8 ปี 1 เดือน ริบอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 80และฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสองจำเลยมีความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสองลงโทษจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมยึดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย 1 คัน อาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนขนาด 12 จำนวน 1 นัด เป็นของกลางปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์การกระทำของจำเลยมีปัญหาที่จะยกขึ้นวินิจฉัยประการแรกว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์หรือไม่ โจทก์มีนายชวนชม วงษ์ช่วย ผู้เสียหายมาเบิกความยืนยันว่า เมื่อจำเลยไม่ยอมทำงานเป็นลูกเรือประมงและจะคืนเงินที่ยืมให้แต่บอกให้ไปเอาที่บ้านซึ่งอยู่บริเวณสี่แยกไฟแดง พยานจึงยืมรถจักรยานยนต์ของนายพิมพ์พรรณ เหมือนมิตร ขับไปส่ง เมื่อไปถึงบริเวณหน้าสถาบันราชภัฎสงขลาจำเลยบอกว่าให้ไปเอาเงินที่อำเภอหาดใหญ่ ครั้งแรกพยานไม่ยอมไป จำเลยจึงชักอาวุธปืนลูกซองสั้นอกมาจี้หน้าอกพยานพร้อมพูดว่า ถ้ามึงไม่ไปเอารถมาให้กู และสั่งให้ขับรถต่อไป นอกจากผู้เสียหายเบิกความดังกล่าว ยังได้ความจากร้อยตำรวจโทวิเชียรดำเนียม พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จากบริเวณหน้าสถาบันราชภัฎสงขลาไปถึงบริเวณห้าแยกน้ำกระจายระหว่างทาง มีทางแยกของถนนตัดอยู่หลายแห่ง มีบางซอยเป็นที่เปลี่ยว จึงเห็นได้ว่า ถ้าจำเลยมีความประสงค์จะชิงเอารถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับไป ก็น่าจะให้ผู้เสียหายขับรถไปในที่เปลี่ยวแล้วบังคับให้ผู้เสียหายลงจากรถหรือทำร้ายผู้เสียหายก็จะเป็นการสะดวกในการชิงทรัพย์มากกว่าที่จะบังคับให้ผู้เสียหายขับรถเข้ามาในเมืองซึ่งห่างจากบริเวณท่าเรือ 4 ถึง 5 กิโลเมตร เช่นนี้ ทั้งผู้เสียหายก็ไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน เมื่อจำเลยทำร้ายและทิ้งผู้เสียหายไว้ในที่เปลี่ยว ก็ยากที่จะติดตามจับจำเลยได้การที่จำเลยชักอาวุธปืนออกมาจี้บังคับผู้เสียหาย น่าเชื่อว่าเพื่อให้ผู้เสียหายยอมตามและขับรถไปส่งที่อำเภอหาดใหญ่เท่านั้น หาใช่เพื่อให้ผู้เสียหายมอบรถจักรยานยนต์ให้ไม่ที่จำเลยพูดกับผู้เสียหายว่าถ้ามึงไม่ไป เอารถมาให้กู้นั้น ผู้เสียหายก็มิได้ให้รถจำเลยไปและจำเลยก็มิได้แย่งรถมาจากผู้เสียหาย คำพูดของจำเลยจึงมีความหมายเพียงเพื่อต้องการบีบบังคับผู้เสียหายให้ขับรถไปส่งจำเลยที่อำเภอหาดใหญ่เท่านั้น ไม่ใช่มีเจตนาที่จะเอารถไปจากความครอบครองของผู้เสียหายในขณะนั้นแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ดังฎีกาของโจทก์ คงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง เท่านั้นปัญหาที่จะยกขึ้นวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่โจทก์มีจ่าสิบตำรวจวิชัย สีตะพงศ์ และจ่าสิบตำรวจชัยยะ อินทสุวรรณ มาเบิกความว่าผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ฝ่าสัญญาณไฟแดงออกมา เมื่อรถล้มลง จำเลยได้ลุกขึ้นแล้วใช้อาวุธปืนจ้องเล็งมาที่จ่าสิบตำรวจวิชัยและจ่าสิบตำรวจชัยยะ ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 5 เมตร จ่าสิบตำรวจชัยยะบอกให้หยุดและวางอาวุธปืน แต่จำเลยไม่ยอม จ่าสิบตำรวจชัยยะจึงยิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัด จำเลยยังคงถือปืนส่องมาที่จ่าสิบตำรวจวิชัยและจ่าสิบตำรวจชัยยะ จ่าสิบตำรวจวิชัยจึงใช้อาวุธปืนยิงไปที่น่องของจำเลย 1 นัด จำเลยวิ่งหนีไปแอบอยู่ในครัวของบ้านชาวบ้านและถูกจับได้ในเวลาต่อมา เห็นว่าขณะเกิดเหตุพยานทั้งสองอยู่ห่างจากจำเลยประมาณ 5 เมตร ถ้าจำเลยถืออาวุธปืนจ้องเล็งมายังพยานทั้งสองแล้ว จ่าสิบตำรวจชัยยะคงไม่ทันร้องบอกให้จำเลยวางอาวุธปืนหรือยิงปืนขู่ก่อน เพราะจำเลยอยู่ในระยะใกล้ อาจยิงพยานทั้งสองให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ทันที และจากรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.9 แพทย์ลงความเห็นว่า จำเลยมีบาดแผลกระสุนปืนที่ขาซ้าย บริเวณใต้เข่าซ้าย 2 รู (รูเข้าทางด้านหลัง รูออกทางด้านหน้า) บาดแผลกระสุนปืนที่ขาขวา 2 รู (รูเข้าทางด้านหลัง รูออกทางด้านหน้า) กระดูกขาซ้ายหักจึงเห็นได้ว่า บาดแผลที่จำเลยถูกยิง วิถีกระสุนปืนล้วนแต่เข้าทางด้านหลัง แสดงว่าจำเลยหันหลังวิ่งหนีและถูกเจ้าพนักงานตำรวจยิง คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงขัดต่อเหตุผล ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าเมื่อจำเลยเห็นเจ้าพนักงานตำรวจคงเกิดความกลัวตามสัญชาตญาณของคนร้ายและวิ่งหนีทันที มิใช่ถืออาวุธปืนจ้องไว้เฉย ๆ หรือจ้องจะต่อสู้เจ้าพนักงานตำรวจ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาไม่พอฟังลงโทษจำเลยฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ดังฎีกาของโจทก์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share