คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3476/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดกรณีค่าชดเชยและเงินบำเหน็จสะสมหรือบำเหน็จพิเศษไว้เป็นพิเศษ ลูกจ้างจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ค่าชดเชยเป็นเงินที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ในทันทีที่มีการเลิกจ้าง จึงถือว่าจำเลยผิดนัดจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป
ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินบำเหน็จสะสมหรือบำเหน็จพิเศษ ไม่มีกฎหมายบังคับให้จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ ในทันทีนับแต่วันเลิกจ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลย ชำระหนี้ดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้นับแต่วันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2512 จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานประจำ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการส่วนสารบรรณและทรัพย์สินควบคุมดูแลและบริหารเฉพาะหน่วยคลังพัสดุ ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายและเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นเงิน เดือนละ 29,670 บาทกำหนดจ่ายทุกวันที่ 25 ของเดือน วันที่ 28 สิงหาคม 2539 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 178,020 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 29,670 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน11,268 บาท พร้อมค่าเสียหายนับแต่วันทำงานเป็นเวลา 27 ปี เป็นเงิน801,090 บาท ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จสะสม ณ สิ้นงวดเดือนสิงหาคม 2539 เป็นเงิน 298,742.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราออมทรัพย์ของจำเลย ค่าเสียหายสำหรับค่าจ้างเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2539รวม 4 เดือน และโบนัสเป็นเงิน 197,147.50 บาท ค่าเสียหายนับแต่เดือนมกราคม 2540 ถึง เดือนธันวาคม 2549 เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน7,488,194.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อ 7 วันและต่อปีนับแต่วันที่จำเลยจงใจผิดนัดชำระเงินจากต้นเงินข้างต้นทั้งหมดจนกว่าจะชำระเสร็จและออกหนังสือรับรองการผ่านงานแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ทุจริตต่อหน้าที่และกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลย โดยก่อนปี 2539 ขณะโจทก์ทำงานหน้าที่หัวหน้าแผนกคลังพัสดุได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ทุจริตต่อหน้าที่นำทรัพย์สินของจำเลยหรือสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำทรัพย์สินของจำเลยซึ่งอยู่ในแผนกคลังพัสดุไปขายแก่บุคคลภายนอกและนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว หรือนำทรัพย์สินเหล่านั้นไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่นต่อมาเดือนพฤษภาคม 2539 ถึงเดือนมิถุนายน 2539 โจทก์แจ้งให้ผู้รับเหมาขนส่งพัสดุภัณฑ์ของจำเลยปรับราคารับเหมาให้สูงขึ้นทั้งที่ยังไม่ครบกำหนดและโจทก์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง โจทก์นำบุคคลภายนอกเข้าไปในคลังพัสดุซึ่งเป็นเขตหวงห้ามของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย โจทก์กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าว จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยและทุจริตต่อหน้าที่ และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 178,020 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน11,268 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในเงินต้นแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 28 สิงหาคม 2539) กับจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 29,670 บาท เงินบำเหน็จสะสมหรือเงินบำเหน็จพิเศษเป็นเงิน 65,274 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 770,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้นแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 ให้แก่โจทก์ด้วย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่า จากการตรวจสอบคลังพัสดุของจำเลยไม่พบว่ามีทรัพย์สินของจำเลยหายไป จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์นำทรัพย์สินของจำเลยไปขาย เป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนและเป็นคนละเรื่องกับประเด็นที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในประเด็นข้อพิพาทข้อแรกที่ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่นั้นจำเลยให้การต่อสู้คดีอ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่โดยนำทรัพย์สินของจำเลยซึ่งอยู่ในแผนกคลังพัสดุไปขายให้แก่บุคคลภายนอกและนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และในชั้นพิจารณาคดีจำเลยก็นำสืบว่าขณะที่โจทก์ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกคลังพัสดุ โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่นำกระดาษชำระของจำเลยที่เก็บไว้ในคลังสินค้าไปขายนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และนำทรัพย์อื่น ๆ ของจำเลย เช่น พัดลมดูดอากาศ และกระเป๋าหนีบของสตรีไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ฉะนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบว่า กระดาษชำระที่นำไปขายเป็นของนายเสถียร เตชะไพบูลย์ อดีตกรรมการผู้จัดการของจำเลยซึ่งฝากไว้ในคลังพัสดุของจำเลยและมอบให้โจทก์นำไปขายแล้วเอาเงินมาเป็นสวัสดิการสำหรับพนักงาน ประกอบกับการตรวจสอบคลังพัสดุของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินของจำเลยสูญหายไปแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า ขณะที่โจทก์ทำงานเป็นหัวหน้าคลังพัสดุของจำเลย ได้ใช้ตำแหน่งแสวงหาประโยชน์ ทุจริตต่อหน้าที่นำเอาทรัพย์สินของจำเลยไปขายเป็นประโยชน์ส่วนตัวนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยพยานหลักฐานตามที่ปรากฏในสำนวนและเป็นไปตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ มิใช่เป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อพยานหลักฐานและเป็นคนละเรื่องกับประเด็นข้อพิพาทคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในประเด็นข้อนี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยจะต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ สำหรับค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินบำเหน็จสะสมหรือเงินบำเหน็จพิเศษเพียงใด เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคหนึ่ง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์กำหนดว่า ถ้านายจ้างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และข้อ 32 กำหนดว่า ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดต่อไปนี้ (3) วันหยุดพักผ่อนประจำปี ฉะนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดชำระหนี้ สำหรับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนค่าชดเชยและเงินบำเหน็จสะสมหรือบำเหน็จพิเศษนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดไว้เป็นพิเศษ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และค่าชดเชยเป็นเงินที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ในทันทีที่มีการเลิกจ้าง จึงถือว่าจำเลยผิดนัดจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินบำเหน็จสะสมหรือบำเหน็จพิเศษนั้นไม่มีกฎหมายบังคับให้จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ในทันทีนับแต่วันเลิกจ้างและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยแก่โจทก์อัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share