คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามหนังสือแจ้งเงินเดือนและเงินรางวัลพิเศษระบุว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษโดยมิได้มีหลักเกณฑ์ว่าผู้มีสิทธิได้รับรางวัลพิเศษต้องมีสภาพเป็นพนักงานของจำเลยในวันที่จำเลยจ่ายเงินรางวัลพิเศษ ดังนั้น แม้โจทก์จะลาออกไปในภายหลัง โจทก์ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินรางวัลดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานเพื่อคิดค่าชดเชยเพิ่มขึ้นนั้น มิใช่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและมิใช่การแก้ไขข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดเล็กน้อย เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหลังจากที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและหลังสืบพยานแล้ว จึงล่วงเลยเวลาที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 26,250 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2544 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินจำนวน 29,750 บาท แต่จำเลยจ่ายให้เพียง 26,250 บาท ยังขาดอยู่จำนวน 3,500 บาท การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 11,484,000 บาท จำเลยค้างจ่ายเงินรางวัลพิเศษแก่โจทก์จำนวน 13,890 บาท และไม่ออกใบรับรองการทำงานให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 3,500 บาท เงินรางวัลพิเศษจำนวน13,890 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 11,484,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยออกใบรับรองการทำงานให้แก่โจทก์ด้วย

จำเลยให้การว่า จำเลยปรับปรุงโครงสร้างของฝ่ายบัญชีและการเงินซึ่งมีผลต้องยกเลิกตำแหน่งที่โจทก์ดำรงตำแหน่งอยู่ จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ไปครบถ้วนแล้ว มิได้ค้างจ่าย ส่วนเงินรางวัลพิเศษนั้น พนักงานผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษต้องมีสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยในขณะที่จำเลยจ่ายเงินรางวัลพิเศษในไตรมาสนั้น ๆ ซึ่งในไตรมาสเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2544 นั้น ผู้บริหารของจำเลยยังมิได้พิจารณาจ่ายเงินรางวัลพิเศษให้แต่ละหน่วยงาน โจทก์ไม่ได้มีสภาพเป็นพนักงานของจำเลยในขณะที่จำเลยจ่ายเงินรางวัลพิเศษ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษตามฟ้อง โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจากการเลิกจ้างของจำเลย จำเลยไม่ได้มีเจตนาจะไม่ออกใบรับรองการทำงานให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 3,500 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 90,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 26 กันยายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษจากจำเลยหรือไม่ เพียงใด พิเคราะห์หนังสือแจ้งเงินเดือนและเงินรางวัลพิเศษปี 2544 ที่จำเลยแจ้งแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความระบุไว้ตอนต้นว่า “บริษัทฯ ขอแจ้งเงินเดือนและเงินรางวัลพิเศษ(Incentive) ประจำปี 2544 ของท่าน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ดังนี้

เงินเดือน

26,250

บาท

เงินรางวัลพิเศษ (Incentive)

4,630

บาท

บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานการปฏิบัติงานอันดีเช่นนี้ตลอดไป” และได้หมายเหตุไว้ตอนท้ายว่า ระบบเงินรางวัลพิเศษ (Incentive) ในปี 2544ยังคงมีหลักเกณฑ์การคำนวณจ่ายเช่นเดิมตามที่เคยปฏิบัติมา คือ คำนวณจ่ายทุกไตรมาส ทั้งนี้ ยอดที่แจ้งไว้ในหนังสือนี้ คือยอดที่ท่านจะได้รับต่อเดือนซึ่งอาจปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่ท่านสังกัด อนึ่ง ระบบเงินรางวัลพิเศษนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมกับสถานการณ์การดำเนินธุรกิจ เห็นว่าหนังสือแจ้งเงินเดือนและเงินรางวัลพิเศษตามเอกสารหมาย จ.2 ได้ระบุไว้ตอนต้นว่าโจทก์จะได้รับเงินรางวัลพิเศษจำนวน 4,630 บาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544เป็นต้นไป โดยเป็นยอดที่จะได้รับต่อเดือนตามหมายเหตุตอนท้าย และจำเลยยังได้ระบุไว้ด้วยว่าระบบเงินรางวัลพิเศษในปี 2544 ยังคงมีหลักเกณฑ์การคำนวณจ่ายเช่นเดิมตามที่เคยปฏิบัติมา คือคำนวณจ่ายทุกไตรมาส หมายความว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษตั้งแต่เดือนมกราคม 2544 เป็นต้นไป โดยคิดให้เป็นรายเดือน เดือนละ 4,630 บาท และจ่ายให้ทุกสามเดือน มิได้มีหลักเกณฑ์ว่าผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษต้องมีสภาพเป็นพนักงานของจำเลยในวันที่จำเลยจ่ายเงินรางวัลพิเศษดังที่จำเลยให้การต่อสู้ เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษคิดเป็นรายเดือน จึงมีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษสำหรับเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2544 เดือนละ 4,630 บาท รวม 9,260 บาท ส่วนเดือนกันยายน2544 นั้น โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยจนถึงวันที่ 21 กันยายน 2544 ซึ่งเกินกว่าครึ่งเดือนแล้วให้ปัดเศษขึ้นเท่ากับโจทก์ทำงานกับจำเลยครบเดือนจึงมีสิทธิได้เงินรางวัลพิเศษจำนวน4,630 บาท รวมแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษทั้งสิ้นจำนวน 13,890 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษจากจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสองว่า โจทก์ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน แต่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องอันเป็นสิทธิในกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์สามารถแก้ไขคำฟ้องได้ก่อนศาลมีคำพิพากษาจึงถือว่าโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระค่าชดเชยเพิ่มเติมแล้ว เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานเพื่อคิดค่าชดเชยเพิ่มขึ้นนั้นมิใช่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและมิใช่การแก้ไขข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดเล็กน้อย เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง หลังจากที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและหลังสืบพยานแล้ว จึงล่วงเลยเวลาที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เนื่องจากโจทก์ยังมีความสามารถทำงานกับจำเลยต่อไปได้ หากโจทก์ทำงานกับจำเลยจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 จะทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี ซึ่งมีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน แต่จำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 21 กันยายน 2544 ต้องถือว่าโจทก์ทำงานติดต่อกันมาครบ 3 ปี จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์จำนวน 180 วัน เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานเพื่อคิดค่าชดเชยเพิ่มขึ้น จึงถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินรางวัลพิเศษจำนวน 13,890 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share