คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนกระทำผิดจำเลยเคยให้นายแพทย์ น. ตรวจร่างกาย 2 ครั้งผลการตรวจปรากฏว่าจำเลยเป็นโรคประสาทหลอนและปวดศีรษะด้านซ้ายมือมีอาการสับสน ถ้ามีการดื่มสุรามากหรือเกิดความเครียดมากอาจไม่รู้สึกตัวประมาณ 12-13 ชั่วโมง ในคืนเกิดเหตุจำเลยดื่มสุราแล้วจำเลยได้ใช้มีดงัดสายยูประตูเข้าไปลักทรัพย์แล้วนำทรัพย์กลับไปบ้านจำเลยชั้นสอบสวนจำเลยให้การได้ละเอียดในการที่จำเลยเข้าไปทำการลักทรัพย์ทั้งสามารถนำชี้ที่เกิดเหตุถึงสิ่งที่จำเลยได้กระทำแล้วแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง พฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดในขณะที่สามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335,357, 358, 360 ทวิ, 364, 365, 90 และขอให้ริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(3)(8) วรรคสาม, 358, 362, 365(3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปีคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ริบอาวุธมีดของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 360 ทวิ นั้นเห็นว่ารูปเรื่องในคดีนี้ไม่เกี่ยวกับมาตราดังกล่าว ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมีอาการเครียดทางประสาทอย่างมาก ทำให้ขาดความรู้สึกผิดชอบไปชั่วขณะ จำเลยไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา65 วรรคแรก พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบอาวุธมีดของกลางที่ใช้ในการกระทำผิด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้ใช้มีดงัดสายยูประตูห้องที่เกิดเหตุเข้าไปลักทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย เอกสารหมาย จ.1และก่อนกระทำผิดจำเลยให้ศาสตราจารย์นายแพทย์นราทร ธรรมบุตรตรวจร่างกาย 2 ครั้ง เนื่องจากจำเลยปวดศีรษะ สับสนและนอนไม่หลับผลการตรวจปรากฏว่าจำเลยเป็นโรคประสาทหลอนและปวดศีรษะด้านซ้ายมีอาการสับสน ถ้ามีการดื่มสุรามากหรือเกิดความเครียดมากอาจจะไม่รู้สึกตัวประมาณ 12-13 ชั่วโมง ในคืนเกิดเหตุจำเลยได้ดื่มสุราแล้วจำเลยไปลักทรัพย์ดังกล่าวนำไปเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้าที่บ้านพักจำเลย วันรุ่งขึ้นผู้บังคับบัญชาจำเลยสอบถามเรื่องคนร้ายลักทรัพย์จำเลยรับสารภาพและคืนของกลางทั้งหมด ชั้นสอบสวนจำเลยรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.10 และจำเลยได้นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพด้วย
พิเคราะห์แล้ว ตามฎีกาโจทก์ที่ว่า จำเลยดื่มสุราเข้าไปจะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน จำเลยงัดสายยูประตูเข้าไปลักทรัพย์ไปเก็บไว้ที่บ้านตนได้ การกระทำของจำเลยแสดงว่ายังมีความรู้สึกผิดชอบอยู่บ้างขณะกระทำผิด หาใช่กระทำลงขณะไม่สามารถรู้สึกผิดชอบดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่นั้น เห็นว่า จำเลยได้ใช้มีดงัดสายยูประตูเข้าไปลักทรัพย์ แล้วนำทรัพย์กลับไปบ้านจำเลย และในชั้นสอบสวนจำเลยให้การได้ละเอียดในการที่จำเลยเข้าไปทำการลักทรัพย์ ทั้งสามารถนำชี้ที่เกิดเหตุถึงสิ่งที่จำเลยได้กระทำมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ถ้าจำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบคงจะไม่อาจให้รายละเอียดในการกระทำของจำเลยได้ พฤติการณ์ในคดีรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดในขณะที่สามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(3)(8) วรรคสาม, 358, 362, 365(3) ประกอบด้วยมาตรา 65 วรรคสอง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 335(1)(3)(8) วรรคสาม อันเป็นบทหนักให้จำคุก1 ปี จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนและปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเครียด ให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share