คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกฟ้องหลายข้อหาในคดีที่มีข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย เมื่อจำเลยฎีกาในข้อหาที่ไม่ต้องห้ามฎีกาหากศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยไม่ได้เป็นคนร้าย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาที่ต้องห้ามฎีกาได้ด้วย
เมื่อคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายมาว่าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ไม่มีรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลแนบท้ายฟ้องทั้งผู้เสียหายก็มิได้เบิกความว่าได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ดังนี้จำเลยย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม, 340 ตรีจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์
ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษโดยเพียงแต่ระบุมาตรา มิได้ระบุวรรคให้ชัดเจนนั้น แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาแต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องและชัดเจนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙, ๓๔๐ ตรี, ๓๗๑, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๑๓ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรี, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๑๓ ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ และเฉพาะจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ,๗๒ ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ, ๗๒ ทวิ ฐานชิงทรัพย์ จำคุกคนละ ๑๕ ปี ฐานมีอาวุธปืนจำคุกคนละ ๑ ปี ฐานพาอาวุธปืนของจำเลยที่ ๒ จำคุกอีก ๖ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๑มีกำหนด ๑๖ ปี จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑๖ ปี ๖ เดือน
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ วรรคแรก มาตรา ๗๒ ทวิ วรรคสองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อได้พิเคราะห์พยานโจทก์และพยานจำเลยที่ ๒ แล้ว คดีมีเหตุตามสมควรว่าจำเลยที่ ๒ จะไม่ได้เป็นคนร้ายร่วมกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้อง ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ ๒ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ ๒ ฟังขึ้น และให้มีผลถึงข้อหาฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนของจำเลยที่ ๒ ซึ่งต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันอนึ่งที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ข้อหาชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรคสาม, ๓๔๐ ตรี นั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องมาว่า การชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ไม่มีรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลแนบท้ายฟ้อง ทั้งผู้เสียหายก็มิได้เบิกความว่าได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยที่ ๑ จึงมีความผิดตามมาตรา ๓๓๙ วรรคสอง, ๓๔๐ ตรีและข้อหาฐานมีอาวุธปืนของจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นก็เพียงแต่ระบุมาตรามาเท่านั้น มิได้ระบุวรรคมาให้ชัดเจน แม้จำเลยที่ ๑ มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาก็เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องและชัดเจน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙ วรรคสอง, ๓๔๐ ตรี พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗,๗๒ วรรคหนึ่ง ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ ทุกข้อหา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share