คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3471/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์เคยฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาทแปลงเดียวกันกับที่พิพาทในคดีนี้ แต่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวพิพากษาว่า จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงที่พิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระราคา และยังไม่ปรากฏว่าคำพิพากษาดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไขกลับ หรืองดเสียแต่ประการใด โจทก์และจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวจึงต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษานั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 การที่จำเลยทั้งสองยึดถือครอบครองที่พิพาทอยู่จึงเป็นการกระทำโดยชอบตามคำพิพากษาของศาล ไม่เป็นการละเมิดหรือผิดสัญญาต่อโจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายอย่างไร แม้จะเป็นผลให้ผู้ที่จะซื้อที่พิพาทต่อจากโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองปลูกบ้านอยู่บนที่ดินของโจทก์โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินจากจำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะผ่อนชำระหนี้เงินกู้เป็น 2 งวด จำเลยทั้งสองสัญญาว่าจะทำการรื้อบ้านออกจากที่ดินของโจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินกู้งวดที่ 1 จำเลยทั้งสองได้รับเงินงวดที่ 1 แล้วไม่รื้อบ้านออกไปจากที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงขายที่ดินนั้นให้แก่นายถาวร โหสกุล โจทก์มีหน้าที่ดำเนินการรื้อถอนบ้านดังกล่าวแต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อ โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาต่อโจทก์ ทำให้นายถาวรบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินแก่โจทก์ และโจทก์ต้องเสียหายเพราะขาดประโยชน์ที่ควรได้รับจากการขายที่ดิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 2,015,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง หนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์ฟ้องตกเป็นโมฆะ และไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทน สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับนายถาวรทำขึ้นเพื่อฉ้อฉลจำเลยทั้งสอง และต้องการบีบบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อบ้านออกไปจากที่ดินของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน2,015,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2533จนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 15,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26ธันวาคม 2527 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินตามสัญญากู้ดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 แล้ว 2 งวด จำเลยที่ 1 ไม่รื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินโจทก์ โจทก์ฟ้องขับไล่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงซื้อขายที่พิพาทเป็นเงินสด จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงที่พิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระราคา ปรากฏตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่427/2529 ของศาลชั้นต้น โจทก์อุทธรณ์คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเรียกค่าเสียหายเป็นคดีนี้ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นเบื้องต้นตามฎีกาของจำเลยทั้งสองก่อนว่าความเสียหายของโจทก์ในคดีนี้เป็นผลโดยตรงมาจากการผิดสัญญาหรือการละเมิดของจำเลยหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อโจทก์เคยฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาทแปลงเดียวกันกับที่พิพาทในคดีนี้ แต่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 427/2527 ว่าจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงที่พิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระราคา และยังไม่ปรากฏว่าคำพิพากษาดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียแต่ประการใด โจทก์และจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวจึงต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษานั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 การที่จำเลยทั้งสองยึดถือครอบครองที่พิพาทอยู่ จึงเป็นการกระทำโดยชอบตามคำพิพากษาของศาล ไม่เป็นการละเมิดหรือผิดสัญญาต่อโจทก์ ถึงแม้จะฟังว่าเป็นผลให้ผู้ที่จะซื้อที่ดินพิพาทต่อจากโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียหายอย่างไร จำเลยทั้งสองก็มิต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share