คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3467/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ อ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดพิจารณาเพราะในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการขับรถยนต์ชนกับรถยนต์ของผู้มีชื่อระหว่างทางมาศาล ต้องเสียเวลาตกลงกันเกือบ 2 ชั่วโมง ทำให้มาศาลไม่ทันตามกำหนดเวลานัด แต่ข้อเท็จจริงส่อแสดงว่าเหตุที่รถยนต์ชนกันเป็นความผิดของจำเลยที่ 2 และความล่าช้าในการตกลงเรื่องค่าเสียหายกับผู้มีชื่อเกิดจากการที่จำเลยที่ 2 พยายามต่อรองราคาค่าเสียหาย ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 สามารถจ่ายหรือทำความตกลงกับผู้มีชื่อได้โดยไม่ชักช้า นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังจะต้องให้ผู้มีชื่อซึ่งไม่มีความสันทัดในการเขียนหนังสือเขียนใบรับเงินที่มีข้อความค่อนข้างยืดยาวให้อีก อันเป็นการเพิ่มพูนการเสียเวลาให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งความชักช้าดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 มาศาลไม่ทันตามกำหนดนัด เช่นนี้ จึงยังฟังไม่ได้ถนัดนักว่ามีเหตุสมควรเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มาศาลไม่ได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจอนุญาตให้พิจารณาใหม่ตามที่ขอได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ ถ้ายังไม่พอก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำให้การต่อสู้คดีและขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินกู้และดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระก็ให้นำที่ดินจำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์ ถ้ายังไม่พอชำระก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มิได้จงใจขาดนัดพิจารณา เพราะในวันัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์ออกจากบ้านตั้งแต่เวลา ๔ นาฬิกา เพื่อเดินทางมาศาลตามกำหนดนัด แต่ระหว่างทางได้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกับรถยนต์ของผู้มีชื่อบนทางด่วนสายดินแดง – ท่าเรือ ต้องเสียเวลาตกลงกันเกือบ ๒ ชั่วโมง จำเลยที่ ๒ มาถึงศาลเมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๓๐ นาฬิกา และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชำระหนี้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีโอกาสถามค้านพยานโจทก์และนำเอกสารต่าง ๆ มาแสดง ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์คัดค้านว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จงใจขาดนัดพิจารณาและต้องการประวิงคดี ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่ามีเหตุสมควรเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มาศาลไม่ได้หรือไม่ จากคำเบิกความของนายผดุงผู้ขับรถยนต์อีกคันหนึ่งส่อแสดงว่าจำเลยที่ ๒ ยอมรับกับนานผดุงตั้งแต่แรกแล้วว่าตนเป็นฝ่ายผิดจริง จำเลยที่ ๒ และนายผดุงเบิกความตรงกันว่า นายผดุงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๒ จำนวน ๒,๕๐๐ บาท แต่จำเลยที่ ๒ ต่อรองราคา และในที่สุดคู่กรณีก็ตกลงกันได้โดยนายผดุงยอมลดค่าเสียหายลงเหลือ ๑,๕๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ เบิกความว่าต้องเสียเวลาในการต่อรองครู่ใหญ่ เมื่อพิเคราะห์ถึงฐานะของจำเลยที่ ๒ ตามที่ปรากฏในสำเนาแล้ว ค่าเสียหายที่นายผดุงเรียกร้องนับว่าเป็นเงินจำนวนไม่มาก อยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ ๒ จะจ่ายหรือทำความตกลงกับนายผดุงได้โดยไม่ชักช้า ทั้งนี้โดยเมื่อคำนึงถึงภารกิจที่จำเลยที่ ๒ จะต้องรีบไปศาลให้ทันตามกำหนดเป็นเรื่องสำคัญและได้ความจากพยานทั้งสองด้วยว่า จำเลยที่ ๒ ยังให้นายผดุงเขียนใบรับเงินในใบเสร็จรับเงินค่าผ่านทางพิเศษ ตามเอกสารหมาย ร.๑ ด้วย ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวมีข้อความยืดยาวพอสมควร และลายมือของผู้เขียนพอเห็นได้ว่าไม่ค่อยสันทัดในเชิงการเขียนหนังสือ เชื่อว่าคงเขียนช้า ดังนั้นที่พยานทั้งสองเบิกความว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุจนกระทั่งตกลงเรื่องค่าเสียหายกันได้ต้องเสียเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงนั้น น่าเชื่อว่าความล่าช้าดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยที่ ๒ พยานต่อรองราคาค่าเสียหายที่จำเลยที่ ๒ สามารถจ่ายหรือทำความตกลงกับคู่กรณีได้โดยไม่ชักช้า นอกจากนั้นจำเลยที่ ๒ ยังจะต้องให้คู่กรณีซึ่งไม่มีความสันทัดในการเขียนหนังสือเขียนใบรับเงินที่มีข้อความค่อนข้างยืดยาวให้อีก เป็นการเพิ่มพูนการเสียเวลาให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งความชักช้าดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ มาศาลไม่ทันตามกำหนดนัด เช่นนี้แล้วจะให้ฟังว่ามีเหตุสมควรเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ มาศาลไม่ได้ น่าจะยังไม่ถนัดนัก ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจอนุญาตให้พิจารณาใหม่ตามที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขอได้
พิพากษายืน

Share