แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จ. ได้นำที่ดินมาแบ่งแยกจัดสรรขายให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยได้กันเนื้อที่ดินบางส่วนทำเป็นถนนเพื่อให้บุคคลที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรใช้เป็นทางสัญจรจากหมู่บ้านไปสู่ถนนสาธารณะ ต่อมาที่ดินที่เป็นทางบางส่วน จ. ได้รังวัดแบ่งแยกแล้วจดทะเบียนยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์คงเหลือเฉพาะที่ดินที่เป็นทางพิพาทซึ่ง จ. ได้ให้โจทก์เช่าปลูกสร้างอาคารและโจทก์ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารได้ ดังนี้ แม้ที่ดินที่โจทก์จะปลูกสร้างอาคารดังกล่าว จ. จะมิได้ยกให้เป็นสาธารณะ แต่เมื่อที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่มีสภาพเป็นสาธารณูปโภค ซึ่ง จ.ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตจัดสรรจึงต้องด้วยบทบัญญัติของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่286 ข้อ 30ที่บัญญัติ ให้ถือว่าตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไปและจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไม่ได้ ดังนั้น จ. จะนำไปให้ผู้หนึ่งผู้ใดเช่าเพื่อปลูกสร้างอาคารอันเป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไม่ได้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจออกใบอนุญาตให้มีการสร้างอาคารในที่ดินนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างที่ออกให้แก่โจทก์ ทั้งจำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วก็ย่อมมีอำนาจให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ได้เช่นกัน คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 11จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น ประเด็นแห่งคดีย่อมเกิดจากคำฟ้องและคำให้การ เมื่อจำเลยได้ให้การต่อสู้ถึงสภาพของที่ดินที่โจทก์ก่อสร้างอาคารว่าเป็นภารจำยอมที่ผู้จัดสรรที่ดินจัดให้มีขึ้น ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าที่ดินดังกล่าวตกอยู่ในภารจำยอมหรือไม่รวมอยู่ด้วย หาใช่ประเด็นมีเพียงเท่าที่จำเลยที่ 3 ถึง 11ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยเท่านั้นไม่ และข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวก็ไม่ผูกมัดให้ศาลต้องถือตามแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ นบ.2504/2130 และนบ.0022/16629 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2532 และ 1 กันยายน 2532ตามลำดับ และอนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างอาคารตามใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเลขที่ 458/2532 ต่อไป
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8ถึงที่ 11 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ 2 ตามคำสั่งที่ นบ.2504/2130 ที่สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเลขที่ 458/2532 และมติของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ นบ.0022/16629 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทุกประการ เพราะที่ดินที่โจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารเป็นส่วนหนึ่งของซอยจรัลนิเวศน์ซึ่งเป็นทางสาธารณะหรือภารจำยอมของหมู่บ้านจรัลนิเวศน์โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดจรัลหอพานิช ผู้จัดสรรหมู่บ้านเป็นผู้ก่อสร้างและแสดงเจตนาให้ซอยจรัลนิเวศน์ตลอดซอยเป็นทางสาธารณะให้ประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินที่จัดสรรและทั่วไปใช้เป็นทางสัญจรมานานกว่า 10 ปีแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัดจรัลหอพานิช และโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินจึงไม่อาจนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ก่อสร้างอาคารหรือใช้ประโยชน์ส่วนตัวได้ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดก่อสร้างอาคารบนทางสาธารณะหรือทางที่ติดภารจำยอม คำสั่งต่าง ๆ ของจำเลยที่โจทก์ฟ้องจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามหนังสือ นบ.5204/2530 ลงวันที่ 3กรกฎาคม 2532 ที่เพิกถอนใบอนุญาตเลขที่ 458/2532 ลงวันที่ 10เมษายน 2532 ซึ่งอนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างอาคารและคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดจรัลหอพานิชได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 12467 เลขที่ดิน 258 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มาแบ่งแยกจัดสรรขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ตามคำฟ้องข้อ 5 โจทก์รับว่าในการจัดสรรที่ดินดังกล่าว ห้างหุ้นส่วนจำกัดจรัลหอพานิชได้กันเนื้อที่ดินจำนวน 2 งาน 99 ตารางวา ทำเป็นถนนเพื่อให้บุคคลที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรใช้เป็นทางสัญจรจากหมู่บ้านไปสู่ถนนติวานนท์ ต่อมาที่ดินที่เป็นทางบางส่วนด้านใต้ถูกทางราชการเวนคืน และบางส่วนทางเหนือห้างหุ้นส่วนจำกัดจรัลหอพานิชได้รังวัดแบ่งแยกแล้วจดทะเบียนยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์รวมเนื้อที่ 2 งาน 63 ตารางวา คงเหลือที่ดินที่เป็นทางดังกล่าวอีก 36 ตารางวา ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดจรัลหอพานิชได้ให้โจทก์เช่าปลูกสร้างอาคารและโจทก์ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารตามใบอนุญาตเลขที่ 458/2532 ดังนั้น แม้ที่ดินที่โจทก์จะปลูกสร้างอาคารดังกล่าว ห้างหุ้นส่วนจำกัดจรัลหอพานิชจะมิได้ยกให้เป็นที่สาธารณะก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่มีสภาพเป็นสาธารณูปโภคซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดจรัลหอพานิชผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตจัดสรร จึงต้องด้วยบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 ที่บัญญัติว่าสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเหนือการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่นให้ถือว่าตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไปและจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไม่ได้ ดังนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัดจรัลหอพานิช จึงมีหน้าที่บำรุงรักษาภารจำยอมดังกล่าวให้อยู่ในสภาพสาธารณูปโภคต่อไป จะนำไปให้ผู้หนึ่งผู้ใดเช่าเพื่อปลูกสร้างอาคารอันเป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไม่ได้ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่มีอำนาจออกใบอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารในที่ดินนั้นด้วย เมื่อข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ปรากฏขึ้นว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินอันมีสภาพเป็นสาธารณูปโภค จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างที่ออกให้แก่โจทก์ได้ ทั้งจำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วก็ย่อมมีอำนาจให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ได้เช่นกัน คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 จึงชอบด้วยกฎหมาย ที่โจทก์ฎีกาว่า คำให้การของจำเลยเป็นการให้การนอกเหนือจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งวินิจฉัยว่าที่ดินที่ก่อสร้างเป็นทางสาธารณประโยชน์มาก่อน ประเด็นจึงควรจะพิจารณาแต่เพียงว่าที่พิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่เท่านั้นไม่ใช่ตั้งประเด็นเกี่ยวกับภารจำยอมขึ้นมาใหม่นั้น เห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาประเด็นแห่งคดีย่อมเกิดจากคำฟ้องและคำให้การ เมื่อจำเลยได้ให้การต่อสู้ถึงสภาพของที่ดินที่โจทก์ก่อสร้างอาคารว่าเป็นภารจำยอมที่ผู้จัดสรรที่ดินจัดให้มีขึ้น ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าที่ดินดังกล่าวตกอยู่ในภารจำยอมหรือไม่รวมอยู่ด้วย หาใช่ประเด็นมีเพียงเท่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยเท่านั้นไม่ และข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ไม่ผูกมัดให้ศาลต้องถือตามแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน