คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3460/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1663 บัญญัติให้ผู้ตก อยู่ ในอันตรายใกล้ความตายทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้ การที่ผู้ทำพินัยกรรมมีอาการป่วยหนักพูดจาไม่ได้ ไม่สามารถให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ได้ แต่ไม่ปรากฏว่าขณะผู้ทำพินัยกรรมแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมตก อยู่ ในอันตรายใกล้ความตายไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่น กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่จะทำพินัยกรรมด้วยวาจาตามบทบัญญัติดังกล่าวได้.

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ โจทก์ตั้งประเด็นมาว่าจำเลยที่ 1ไปร้องขอให้ศาลสั่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของนางบุญนาค ยิ้มแย้ม ทั้งที่ความจริงนางบุญนาคทำพินัยกรรมด้วยวาจาในพฤติการณ์พิเศษ ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งหก ฝ่ายจำเลยให้การต่อสู้ไว้โดยชัดแจ้งว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม เพราะนายชาญ แสงทอง ทำขึ้นโดยพลการ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นพินัยกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ต่อไปอีกว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทจากนางบุญนาคแล้ว เบื้องต้นสมควรจะวินิจฉัยว่าพินัยกรรมตามที่โจทก์อ้างชอบด้วยกฎหมายอันจะมีผลให้โจทก์ทั้งหกได้รับมรดกตามพินัยกรรมนั้นหรือไม่ ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1ที่โจทก์อ้าง ได้มีการทำขึ้นด้วยวาจาในกรณีมีพฤติการณ์พิเศษ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1663 ที่บัญญัติว่า
“เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ เช่นตกอยู่ในอันตรายใก้ลความตายหรือเวลามีโรคระบาด หรือสงครามบุคคลนั้นจะทำพินัยกรรมด้วยวาจาก็ได้
เพื่อการนี้ ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
พยานสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอโดยมิชักช้าและแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น ทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรมและพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ด้วย
ให้กรมการอำเภอจดข้อความที่พยานนั้นแจ้งไว้ และพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้ ฯลฯ”
การทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 ดังโจทก์อ้างนั้น ปรากฏว่าตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นบันทึกที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2507ใจความว่านางบุญนาค มีความประสงค์ทำพินัยกรรม แต่นางบุญนาคผู้ทำพินัยกรรมมีอาการป่วยหนัก พูดจาไม่ได้ ไม่สามารถให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ได้ แต่นางบุญนาคเคยสั่งไว้กับนายชาญ แสงทอง และนายแสวงวัฒนวงศ์ ว่าให้ผู้มีรายชื่อตามบันทึกดังกล่าว 6 คน ได้รับที่พิพาทตามส่วนที่ระบุไว้ในบันทึกเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่ 15เดือนเดียวกันจึงได้มีการทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 ขึ้น มีข้อความอย่างเดียวกัน ที่ดินพิพาทที่แต่ละคนจะได้รับตรงตามบันทึกเอกสารหมายจ.2 ดังนี้เห็นว่า บทบัญญัติตามมาตรา 1663 ดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ตกอยู่ในอันตรายใก้ลความตายทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้ แต่ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.2 ได้ความว่าในวันที่อ้างว่านางบุญนาคทำพินัยกรรมโดยมีพฤติการณ์พิเศษนั้น นางบุญนาคผู้ทำพินัยกรรมมีอาการป่วยหนักพูดจาไม่ได้ ไม่สามารถให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ได้กรณีจึงไม่ใช่เป็นเรื่องทำพินัยกรรมด้วยวาจาตามบทบัญญัติดังกล่าวที่ตามบันทึกมีใจความต่อไปว่า นางบุญนาคเคยสั่งไว้เกี่ยวกับทรัพย์สิน คือ ให้ส่วนแบ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ก็มิได้ระบุว่าสั่งไว้เมื่อใด อันหมายความว่ามิได้สั่งในวันทำพินัยกรรมด้วยวาจาแต่จะเป็นการสั่งขณะนางบุญนาคตกอยู่ในอันตรายใก้ลความตายหรือไม่ขณะสั่งนางบุญนาคสามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ ไม่ปรากฏ ดังนี้เห็นว่า พินัยกรรมตามที่โจทก์อ้างไม่สมบูรณ์มีผลบังคับตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share