คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 346/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.กับบิดามารดาจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาให้ผ่านที่ดิน ซึ่งมีข้อความว่า บิดามารดาจำเลยยินยอมให้ทำทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 5621 เพื่อให้เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4587 โดยได้รับค่าตอบแทนและตกลงจะไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้ ข้อความที่ระบุไว้ดังกล่าวแม้จะยังมิได้ไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอม แต่เมื่อจำเลยได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5621 มาโดยทางมรดก จำเลยก็ต้องรับภาระผูกพันตามสัญญาดังกล่าวด้วย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1600แม้โจทก์มิใช่คู่สัญญาตามหนังสือสัญญาให้ผ่านที่ดินเอกสารหมาย จ.4 และกรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้สืบสิทธิมาจาก ป. เพราะโจทก์ทั้งสิบเก้าเป็นผู้รับโอนที่ดินมาโดยทางนิติกรรม มิใช่รับโอนมาโดยผลของกฎหมายในฐานะทายาทหรือทางมรดกตามป.พ.พ.มาตรา 1599, 1600 ก็ตาม แต่การที่จำเลยเป็นผู้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่5621 โดยมีโจทก์ใช้ทางพิพาทอยู่ จำเลยย่อมจะทราบดีว่าบิดามารดาจำเลยมีข้อตกลงหรือสัญญายอมให้บุคคลอื่นผ่านทางพิพาทได้ตามหนังสือสัญญาให้ผ่านที่ดินดังกล่าว ย่อมถือเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย จำเลยจึงไม่มีสิทธิปิดกั้นทางพิพาท และต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในทางพิพาทออกไป แต่โจทก์ใช้ทางพิพาทตามข้อตกลงเป็นการใช้โดยอาศัยสิทธิของ ป.เจ้าของที่ดินเดิม จึงไม่อาจได้ภาระจำยอมโดยอายุความ และข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน-เจ้าหน้าที่ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิตาม ป.พ.พ.บรรพ 4 จึงไม่เป็นภาระจำยอมเช่นกัน

Share