คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3456/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ดอกเบี้ยหลังวันฟ้องไม่นำมาคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 294,062 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากเงินต้น 250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับเงินกู้เพียง 200,000 บาทและชำระดอกเบี้ยให้โจทก์หมดแล้ว มีหนี้ที่ต้องชำระเพียง 200,000บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 250,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัด (วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2533) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 3893 ตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัยจังหวัดนครสวรรค์ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 250,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2533 จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้โจทก์เสร็จสิ้นหากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยจำเลยยอมจะชำระต้นเงิน250,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีเฉพาะส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 250,000 บาท นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2533 ถึงวันที่ 8 เมษายน 2534 เป็นเงิน 44,062บาท เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยหลังวันฟ้องศาลพิพากษาให้จำเลยรับผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(3) จึงไม่นำมาคำนวณเป็นทุนทรัพย์ในส่วนนี้ ดังนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกินสองแสนบาท คดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share