แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 30 (2) เป็นกำหนดเวลาในการฟ้องคดี ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง แม้เป็นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ใน ป. รัษฎากร แต่ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง อันกำหนดไว้ใน ป. รัษฎากร ศาลภาษีอากรย่อมมีอำนาจขยายได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) เลขที่ 11830010/1/102119 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2544 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.11 ภก/14/2546 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2546 และงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 12) เลขที่ 11830010/1/102119 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2544 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.11 ภก/14/2546 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2546 โดยให้งดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายกำหนดเวลาให้โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจขยายกำหนดเวลาการฟ้องคดีต่อศาลให้โจทก์เพราะกำหนดเวลาตามมาตรา 30 (2) แห่ง ป. รัษฎากรเป็นกำหนดเวลาในการฟ้องคดี ไม่ใช่ระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 23 หรือระยะเวลาตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ที่ศาลจะมีอำนาจขยายได้นั้น เห็นว่า กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน เป็นกำหนดเวลาในการฟ้องคดีถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดี แม้เป็นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) แห่ง ป. รัษฎากร แต่ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณา ความแพ่ง อันกำหนดไว้ใน ประมวลรัษฎากร ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจขยายระยะเวลาดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ โดยอาศัยอำนาจมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า กรณีของโจทก์มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับให้มากกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวเป็นเพียงระเบียบที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินถือปฏิบัติไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องถือตามระเบียบดังกล่าว ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับ ได้เองในกรณีที่มีเหตุสมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอีกด้วย แต่กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานให้เห็นว่ากรณีของโจทก์มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับเพราะเหตุใด ทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ก็เห็นชัดเจนว่าการที่ บริษัทเข้งหงวน จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทและอยู่ในระหว่างการชำระบัญชีโดยผู้ชำระบัญชีทำการขายทรัพย์สินและ รวบรวมรายได้หลังจากหักรายจ่ายแล้วบริษัทมีกำไรสุทธิ เมื่อหักผลขาดทุนสะสมยกมาจากปีก่อนแล้วบริษัทมี กำไรสะสมสิ้นปี การที่บริษัทจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ไม่ถือว่าเป็นเงินปันผล เพราะมิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1200 ถึง 1205 กำหนดไว้ และกรณีของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการเข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน ดังนี้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับลงคงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์มากกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.