คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีสำนวนหลังซึ่งจำเลยเป็นโจทก์เป็นคดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงจำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านในปัญหาข้อนี้ แต่กลับฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายประมาทและฎีกาเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าเสียหาย เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีอาญาที่อัยการศาลทหารกรุงเทพได้ยื่นฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เป็นความผิดต่อรัฐโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจถือได้ว่าอัยการศาลทหารกรุงเทพฟ้องคดีอาญาแทนโจทก์ โจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่คู่ความรายเดียวกับโจทก์ในคดีอาญาของศาลทหารกรุงเทพ ผลของคำพิพากษาคดีอาญาของศาลทหารกรุงเทพย่อมไม่ผูกพันโจทก์ ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนหลังเป็นโจทก์และเรียกจำเลยในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังเป็นจำเลยสำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2526 เวลาประมาณ 1นาฬิกา จำเลยขับขี่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก-1002 สมุทรปราการไปตามถนนพระราม 6 จากสี่แยกประดิพัทธ์ไปทางสี่แยกตึกชัย ครั้นถึงบริเวณหน้าแฟลตทหารบก จำเลยได้นำรถแล่นเลี้ยวขวาเข้าแฟลตดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ของโจทก์คันหมายเลขทะเบียน 3ก-7477 กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์ขับขี่แล่นสวนทางมาในทางเดินรถของโจทก์ เหตุครั้งนี้จำเลยถูกฟ้องยังศาลทหารกรุงเทพตามคดีหมายเลขดำที่ 422 ก./2527 คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 69,620 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว ทำให้รถจำเลยต้องเสียหาย เหตุครั้งนี้จำเลยถูกฟ้องดำเนินคดีอยู่ในศาลทหารกรุงเทพจริงแต่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษา จึงถือว่าจำเลยขับขี่รถโดยประมาทไม่ได้ขอให้ยกฟ้อง สำนวนหลังโจทก์ (จำเลยในสำนวนแรก) ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2526 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลย (โจทก์ในสำนวนแรก) ขับขี่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 3ก-7477 กรุงเทพมหานครไปตามถนนพระราม 6 จากสี่แยกตึกชัย มุ่งหน้าไปทางสี่แยกประดิพัทธ์ด้วยความประมาทเลินเล่อ กล่าวคือ ขับขี่รถด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับขี่ฝ่าสัญญาไฟให้หยุดรถ แล่นเข้าชนรถของโจทก์คันหมายเลขทะเบียน ก-1002 สมุทรปราการ ขณะโจทก์จอดรถรอเลี้ยวเข้าแฟลตทหารบกตรงช่องทางคนเดินที่เว้นให้รถแล่นเข้าประตูแฟลตกับช่องเดินรถชิดขอบทางด้านซ้ายสำหรับรถเลี้ยวเข้าแฟลต รถโจทก์ต้องเสียหาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,887.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 18,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลย (โจทก์ในสำนวนแรก) ให้การว่า จำเลยขับขี่รถด้วยความระมัดระวังมิใช่ขับขี่รถด้วยความเร็วและฝ่าฝืนสัญญาณไฟดังโจทก์ (จำเลยในสำนวนแรก) กล่าวอ้าง รถจำเลยแล่นทางตรงในช่องเดินรถที่ถูกต้อง แต่โจทก์เองขับขี่รถด้วยความประมาทเลินเล่อนำรถแล่นเลี้ยวขวาเข้าแฟลตทหารบกโดยไม่ระมัดระวังรถที่แล่นทางตรงเป็นเหตุให้ชนกับรถจำเลยเหตุครั้งนี้โจทก์ถูกฟ้องดำเนินคดีต่อศาลทหารกรุงเทพแต่ฝ่ายเดียวโจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง นอกจากนี้ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลย (โจทก์ในสำนวนหลัง)ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ (จำเลยในสำนวนหลัง) เป็นเงิน 46,620 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลย (โจทก์ในสำนวนหลัง) จำเลยในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับคดีสำนวนหลังซึ่งจำเลยเป็นโจทก์นั้นเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 20,000 บาท จึงเป็นคดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลย (โจทก์ในสำนวนหลัง) มิได้ฎีกาคัดค้านในปัญหาข้อนี้แต่ประการใด แต่กลับฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายขับขี่รถยนต์โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายและฎีกาเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่จำเลย ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาในปัญหาดังกล่าวขึ้นมาด้วย ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาข้อกฎหมายทั้งสองสำนวนของจำเลยที่ว่า เกี่ยวกับเรื่องรถชนกันนี้โจทก์เป็นผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยขับขี่รถยนต์ประมาททำให้โจทก์เสียหายอัยการศาลทหารกรุงเทพได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลทหารกรุงเทพ และโจทก์ไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ในฐานะผู้เสียหายด้วย ผลที่สุดศาลทหารกรุงเทพได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 145 ก./2528 ให้ยกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดแล้วคำพิพากษาคดีอาญาของศาลทหารกรุงเทพดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยในคดีนี้ ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498มาตรา 54 และตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 914/2520 ระหว่างนางปรียา ทองพุฒ โจทก์นายสุรัตน์ นิตย์แสง กับพวก จำเลย จึงต้องฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลทหารกรุงเทพ (ใช้กฎ 6 ต.ค. 19) คดีดำที่ 422 ก./2527 คดีแดงที่145 ก./2528 ระหว่างอัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ พันโทมนูศรฤทธิ์ชิงชัย จำเลยที่จำเลยอ้างถึงโดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า อัยการศาลทหารกรุงเทพได้ยื่นฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติ ดังกล่าวเป็นความผิดต่อรัฐ โจทก์มิใช่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจถือได้ว่าอัยการศาลทหารกรุงเทพฟ้องคดีอาญาแทนโจทก์ โจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่คู่ความเดียวกับโจทก์ในคดีอาญาของศาลทหารกรุงเทพผลของคำพิพากษาคดีอาญาของศาลทหารกรุงเทพดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งหาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาไม่”
พิพากษายืน

Share