คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3453/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเดิมบิดาจำเลยเป็นหนี้โจทก์โดยเอาบ้านพิพาทค้ำประกันไว้เมื่อบิดาจำเลยตาย จำเลยได้ชำระหนี้บางส่วนแทนผู้ตายแก่โจทก์ ส่วนที่เหลือทำสัญญาไว้ จำเลยไม่ชำระหนี้และศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยยึดบ้านที่ค้ำประกันเพื่อขายทอดตลาดการที่จำเลยเข้าทำสัญญากู้กับโจทก์ยอมรับใช้หนี้ของบิดานั้นเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยจำเลยเข้ารับภาระเป็นลูกหนี้แทนบิดา ทำให้หนี้เดิมระงับและบิดาจำเลยลูกหนี้คนเก่าหลุดพ้นจากหนี้ไป การแปลงหนี้ดังกล่าวโจทก์จำเลยจะทำสัญญากันโดยลำพังไม่ต้องให้บิดาจำเลยลูกหนี้คนเก่าเข้ามาเกี่ยวข้องทำสัญญาด้วยก็ได้ เพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้นเมื่อบิดาจำเลยลูกหนี้คนเดิมตายไปแล้วกรณีที่จะถือว่าเป็นการขืนใจลูกหนี้เดิมก็ไม่มีหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นหนี้ของจำเลยแต่ผู้เดียว ผู้ร้องทั้งหกและจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายย่อมมีสิทธิรับมรดกบ้านที่ถูกยึดคนละส่วน ผู้ร้องทั้งหมดจึงมีสิทธิขอกันส่วนเงินขายบ้านที่ถูกยึดคนละส่วน รวม 6 ส่วน

ย่อยาว

คดีเดิม โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์และศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระจึงยึดบ้านที่ค้ำประกันไว้ออกขายทอดตลาดอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลย

ผู้ร้องทั้งหกยื่นคำร้องว่าบ้านที่ถูกยึดเป็นของบิดาจำเลยและผู้ร้อง เมื่อบิดาตายบ้านดังกล่าวก็ตกเป็นมรดกของจำเลยและผู้ร้อง ผู้ร้องทั้งหกจึงขอกันส่วนเงินที่ได้จากขายทอดตลาดบ้านที่ถูกยึดคนละส่วน

โจทก์ให้การว่าตั้งแต่บิดาจำเลยและผู้ร้องตายยังไม่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหรือแบ่งมรดกของผู้ตายจนขาดอายุความใช้สิทธิรับมรดกแล้ว ขอให้ยกคำร้อขอกันส่วนของผู้ร้องทั้งหก

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าบ้านที่ถูกยึดฟังไม่ได้ว่าเป็นของผู้ตายและผู้ร้องทั้งหกมีส่วนเป็นเจ้าของจึงให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องทั้งหกอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องทั้งหกฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บ้านที่โจทก์นำยึดเป็นของนายเคี่ยมพูนหรือไม่นายสมพรผู้ร้องที่ 1 เบิกความว่า บิดาผู้ร้องเป็นผู้เช่าที่ดินปลูกบ้านพิพาทและอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวกับมารดาจำเลยและผู้ร้องทั้งหก ต่อมาบิดามารดาผู้ร้องตาย บ้านตกเป็นมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกัน คำให้การของโจทก์ก็รับว่า บิดาผู้ร้องกู้เงินโจทก์แล้วนำบ้านดังกล่าวไปประกันหนี้ไว้ หากบ้านไม่ใช่ของบิดาผู้ร้องแล้ว โจทก์ก็คงจะไม่ยอมให้นำไปประกันหนี้ดังนั้น จึงฟังได้ว่า บ้านที่โจทก์นำยึดเป็นของนายเคี่ยมพูนบิดาจำเลยและผู้ร้องทั้งหกตกเป็นมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกัน ส่วนปัญหาที่ว่าหนี้ที่ศาลพิพากษาให้จำเลยรับผิดเป้นหนี้ของบริษัทผู้ร้องทั้งหกหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยเข้าทำสัญญากู้กับโจทก์ยอมรับใช้หนี้ของนายเคี่ยมพูนบิดาจำเลยนั้นเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ โดยจำเลยเข้ารับภาระเป็นลูกหนี้แทนนายเคี่ยมพูน ทำให้หนี้เดิมระงับและนายเคี่ยมพูนลูกหนี้คนเก่าหลุดพ้นจากหนี้ไป การแปลงหนี้ดังกล่าวโจทก์จำเลยจะทำสัญญากันโดยลำพังไม่ต้องห้ามให้นายเคี่ยมพูนลูกหนี้คนเก่าเข้ามาเกี่ยวข้องทำสัญญาด้วยก็ได้ เพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเคี่ยมพูนลูกหนี้เดิมตายไปแล้ว กรณีที่จะถือว่าเป็นการขืนใจลูกหนี้เดิมก็ไม่มี หนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นหนี้ของจำเลยแต่ผู้เดียว ผู้ร้องทั้งหกและจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเคี่ยมพูนย่อมมีสิทธิรับมรดกบ้านที่ถูกยึดคนละส่วน ผู้ร้องทั้งหกจึงมีสิทธิขอกันส่วนเงินขายบ้านที่ถูกยึดคนละส่วนรวม 6 ส่วน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องทั้งหกฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้แบ่งส่วนเงินค่าขายบ้านที่ถูกยึดออกเป็น 7 ส่วน และให้กันส่วนของผู้ร้องทั้งหกออกคนละ 1 ส่วน รวม 6 ส่วน

Share