แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า ให้เงินและหรือทรัพย์สินอื่นจำนวน12,000,000 บาท ของโจทก์ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินเท่ากับรับรองว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดที่สอบสวนดำเนินการแก่โจทก์ เพราะโจทก์ร่ำรวยผิดปกติ จนกระทั่งมีคำสั่งสำนักงานนายกรัฐมนตรีปลดโจทก์ออกจากราชการนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้ว ไม่ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยราชการระดับกรมสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นเลขาธิการของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการโดยตำแหน่งเมื่อปี 2528 จำเลยที่ 1 ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าโจทก์ใช้อำนาจในตำแหน่งหาทรัพย์สินและผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและผู้อื่นตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในปี 2517 ตลอดมาจนถึงเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในปี 2530 จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งฉบับลงวันที่ 21 มกราคม 2531 ให้โจทก์แสดงทรัพย์สินและหนี้สินและแต่งตั้งจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นอนุกรรมการสอบสวน ทำการสอบสวนเรื่องที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือแสดงทรัพย์สินที่เหลืออยู่ ณ วันที่ 21 มกราคม 2531 รวม 49,944,622.93 บาท และที่มาของทรัพย์สินเหล่านั้น ต่อมาจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ในฐานะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนและสรุปความเห็นไม่เชื่อที่มาของทรัพย์สินตามที่โจทก์แสดง และลงมติว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และไม่สามารถชี้แจงว่าได้ทรัพย์สินมาโดยชอบ ถือว่าโจทก์กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการพร้อมทั้งเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีในที่สุดนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการตามคำสั่งลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2532 ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งว่าโจทก์มีทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติจำนวน 16,826,077 บาทและให้ทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดิน แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการกระทำโดยไม่มีความรู้ความชำนาญในวิชาการหรือกิจการต่าง ๆ ในการสอบสวน จึงทำให้โจทก์เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดทำให้โจทก์เสื่อมเสียเกียรติยศและชื่อเสียงเสียโอกาสก้าวหน้าทางราชการ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 4,000,000 บาท การที่โจทก์ถูกปลดออกจากราชการทำให้ไม่ได้รับเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ และสิทธิอันพึงได้ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 4,000,000 บาท การที่โจทก์ถูกดำเนินคดีแพ่งเรื่องขอให้ริบทรัพย์ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีจำนวน 1,000,000 บาท และระหว่างพิจารณาพนักงานอัยการได้ขอคุ้มครองชั่วคราวจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินและบัญชีเงินฝากธนาคารมาวางประกันต่อศาล ทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ และการค้าอสังหาริมทรัพย์ตลอดจนต้องรับภาระชำระดอกเบี้ยแก่ธนาคาร เนื่องจากไม่อาจนำเงินที่วางประกันไปชำระหนี้ธนาคารได้คิดถึงวันที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนการอายัดหลักประกัน โจทก์เสียหายเป็นเงิน6,000,000 บาท นอกจากนั้นโจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากการที่ต้องออกจากราชการเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้เข้ารับราชการหรืออายุครบเกษียณ ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดชำระเงินจำนวน 15,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะได้กลับเข้ารับราชการหรือจนกว่าจะมีอายุครบเกษียณ
จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ให้การว่า โจทก์ทราบเหตุละเมิดและรู้ตัวบุคคลที่จะต้องรับผิดตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการแล้ว นับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดในการกระทำเดียวกันมีประเด็นพิพาทอย่างเดียวกันกับคดีนี้ คดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 2165/2535ให้ยกฟ้องโจทก์ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จำเลยที่ 3ถึงที่ 7 ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการสอบสวนเรื่องโจทก์ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ลงมติว่าไม่เชื่อที่มาของทรัพย์สินโจทก์ในรายการดังกล่าวจึงเป็นมติที่มาจากการสอบสวนโดยชอบและตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2530 มาตรา 13, 13 ทวิ(2) ซึ่งห้ามมิให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการดำเนินการสอบสวนในเรื่องทุจริตทั่วไปมิได้ห้ามกรณีการสอบสวนเรื่องร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไม่มีกฎหมายรับรองให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ถูกปลดออกจากราชการเป็นผลจากการกระทำของโจทก์เองค่าเสียหายในการดำเนินคดีแพ่งที่ถูกพนักงานอัยการร้องขอให้ยึดทรัพย์สูงเกินส่วนค่าเสียหายจากการที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำหลักทรัพย์ไปวางประกัน โจทก์แถลงต่อศาลขอวางเงินประกันในจำนวนดังกล่าวก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใด ๆ ถือว่าโจทก์ยินยอมรับความเสียหายที่เกิดขึ้นเอง ความยินยอมไม่เป็นละเมิด ส่วนค่าเสียหายเป็นรายเดือนจากการที่ต้องออกจากราชการโจทก์ไม่ได้ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิกลับเข้ารับราชการ จึงเป็นค่าเสียหายที่ปราศจากข้ออ้างตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและคดีโจทก์ขาดอายุความโจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดในการกระทำเดียวกันมีประเด็นพิพาทอย่างเดียวกันกับคดีนี้ คดีก่อนถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจึงเป็นฟ้องซ้ำ และตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนกระทำโจทก์จึงต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ จะฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ได้มติของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงเกิดจากการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายจากการที่โจทก์ต้องเสื่อมเสียเกียรติยศและชื่อเสียงเพราะไม่มีกฎหมายรับรองให้เรียกร้องได้ ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายจากการที่โจทก์ถูกปลดออกจากราชการจนไม่ได้รับเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ เพราะเป็นผลจากการกระทำของโจทก์เอง และโจทก์ไม่ได้ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ ค่าเสียหายสูงเกินส่วน โจทก์แถลงขอวางเงินประกันต่อศาลก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นความยินยอมของโจทก์จึงไม่เป็นละเมิดขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 17089/2532 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ และโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องว่า การกระทำละเมิดของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นมูลความผิดอาญาด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษา ให้ยกคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องใหม่แล้วดำเนินการพิจารณาพิพากษาไปตามรูปคดี
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันและจากคำแก้ฎีกาของโจทก์รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อปี 2528 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยราชการระดับกรมสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าโจทก์ใช้อำนาจในตำแหน่งหาทรัพย์สินและผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในปี 2517 ตลอดมาจนดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในปี 2530 จึงได้มีคำสั่งให้โจทก์แสดงทรัพย์สินและหนี้สิน และต่อมาได้แต่งตั้งจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นอนุกรรมการสอบสวนเรื่องที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ โจทก์ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาถึงที่มาของทรัพย์สิน แต่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ไม่เชื่อที่มาของทรัพย์สิน 3 รายการตามฟ้องและเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้ลงมติว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และไม่สามารถชี้แจงว่าได้ทรัพย์สินมาโดยชอบ ถือว่าโจทก์ทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พร้อมทั้งเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อลงโทษทางวินัย นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติจำนวน 16,826,077 บาท ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวโจทก์จึงฟ้องคดีนี้ระหว่างพิจารณาคดีนี้ พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เงินและหรือทรัพย์สินอื่นจำนวน 12,000,000 บาท ของโจทก์ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน และศาลฎีกาพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4164/2541 คดีแพ่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
พิเคราะห์แล้วเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าให้เงินและหรือทรัพย์สินอื่นจำนวน 12,000,000 บาท ของโจทก์ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน เท่ากับรับรองแล้วว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ เมื่อโจทก์ร่ำรวยผิดปกติจนถูกศาลฎีกาพิพากษาให้ยึดทรัพย์สินของโจทก์ตกเป็นของแผ่นดิน การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดที่สอบสวนดำเนินการแก่โจทก์จนกระทั่งมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีปลดโจทก์ออกจากราชการ จึงต้องถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดชอบแล้วไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อฟังได้เช่นนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งเจ็ดต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายกฟ้อง