คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3445/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของโจทก์มิได้โต้เถียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่โจทก์ได้ให้เงินแก่จำเลยที่ 1เพื่อนำไปให้แก่จำเลยที่ 2 คงโต้เถียงแต่เพียงว่า การที่โจทก์ให้เงินแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำไปให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการให้ตามทางแห่งมนุษยธรรมมิใช่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เพราะปัญหาที่ว่าการกระทำใดเป็นการอันมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายคดีจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ให้หย่าขาดจากจำเลยที่ 2 แล้วมาอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำด้วยวัตถุประสงค์ซึ่งฝ่าฝืนต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชนถือว่าโจทก์มีส่วนในการกระทำผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายที่จะฟ้องจำเลยทั้งสองได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้หากจะฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ยินยอมมอบเงินจำนวน 3,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ให้หย่าขาดจากจำเลยที่ 2 แล้วมาอยู่กินเป็นสามีภรรยากับโจทก์และให้จำเลยที่ 2 นำเงินมาฝากธนาคารไว้เพื่อเลี้ยงดูบุตร แต่จำเลยทั้งสองแสร้งจดทะเบียนหย่ากันโดยเมื่อได้จดทะเบียนหย่าแล้วกลับจดทะเบียนสมรสกันใหม่ในวันเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 นำทะเบียนหย่ามาแสดงต่อโจทก์แล้ว โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้ไปตามที่โจทก์นำสืบก็ตามการกระทำของโจทก์ก็เป็นการกระทำด้วยวัตถุประสงค์ซึ่งฝ่าฝืนต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน และถือว่าโจทก์เป็นผู้ก่อกับมีส่วนในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์น่าจะถือว่าเป็นไปตามทางแห่งมนุษยธรรมมากกว่าที่จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิได้เป็นการมุ่งวัตถุประสงค์ซึ่งฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีส่วนในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์มิได้โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาในประเด็นที่เกี่ยวกับการที่โจทก์ได้ให้เงินจำนวน 3,500,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ประการใด คงโต้เถียงแต่เพียงว่า การที่โจทก์ให้เงินแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำไปให้แก่จำเลยที่ 2 เช่นนั้น เป็นการให้ตามทางแห่งมนุษยธรรม มิใช่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการก่อให้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง ซึ่งปัญหาที่ว่าการกระทำใดเป็นการอันมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่นั้น ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์มานั้นเป็นการไม่ชอบ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป

Share