คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ว. ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ที่1ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้นั้นย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าให้มีผลไปถึงลูกหนี้ด้วยแม้ลูกหนี้ทั้งสองจะต้องรับผิดร่วมกับผู้ค้ำประกันกำหนดอายุความของลูกหนี้แต่ละคนก็ต้องเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแต่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้นการที่ว.ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ลูกหนี้ทั้งสองย่อมไม่ถูกผูกพันในเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงฉะนั้นจึงไม่ทำให้อายุความที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากลูกหนี้ทั้งสองสะดุดหยุดลงด้วยเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ในอายุความเพียง5ปีเท่านั้น ลูกหนี้ที่1เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน11ฉบับคิดถึงวันเรียกเก็บค้างชำระเป็นเงินทั้งสิ้น891,808.23บาทนับตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้รายนี้ลูกหนี้ทั้งสองไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เลยจึงถือว่าดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้มีสิทธิคิดจากเงินที่ค้างชำระดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/33(1)กำหนดให้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยค้างชำระหนี้ได้ภายในอายุความ5ปีดอกเบี้ยที่ค้างเกินกว่า5ปีซึ่งขาดอายุความแม้ยังถือเป็นภาระหนี้ที่ลูกหนี้ทั้งสองค้างชำระแก่เจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องและก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่หนี้ของส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า5ปีก็เป็นหนี้ที่ขาดอายุความต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ดังนั้นเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธินำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ดังกล่าวมาหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างส่งเกินกว่า5ปีอันเป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้วได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2537 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 2 อันดับ อันดับที่ 1 เป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีหมายเลขแดงที่ 3613/2529 และอันดับที่ 2เป็นมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 11 ฉบับ เป็นเงิน 3,000,115.19บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า มูลหนี้อันดับที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3613/2529 ลูกหนี้ที่ 1 ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เป็นเงิน565,061.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ในต้นเงิน460,065.41 บาท นับถัดจากวันฟ้องถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นดอกเบี้ย 630,195.10 บาท และค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืน3,551.88 บาท กับค่าทนายความ 3,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,201,808.04 บาท ส่วนมูลหนี้อันดับที่ 2 หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทลูกหนี้ทั้งสองต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เป็นต้นเงินรวม 891,808.23บาท ส่วนดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้ขอมาเป็นดอกเบี้ยค้างชำระ จึงคิดให้ไม่เกิน 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1)โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย้อนไป 5 ปี เป็นดอกเบี้ย746,816.07 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นเงิน1,638,624.30 บาท หักชำระหนี้บางส่วนเป็นเงิน 505,208.33 บาทคงเหลือหนี้ค้างชำระ 1,133,415.97 บาท รวมเป็นเงินที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ทั้ง 2 อันดับ 2,335,003.40 บาท เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มูลหนี้อันดับที่ 1 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นเงิน 1,201,587.43 บาท ตามที่ขอมาและมูลหนี้อันดับที่ 2 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง เป็นเงิน1,133,415.97 บาท ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย โดยมีเงื่อนไขว่าในมูลหนี้อันดับที่ 2 หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายวิบูลย์ จันทรางศุนายวิบูลศักดิ์ มัณฑะจิตร และนายชยงค์ กังสดาร ผู้ค้ำประกันไปแล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงไปเพียงนั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
เจ้าหนี้ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คู่ความมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับมูลหนี้อันดับที่ 1 จึงยุติตามคำสั่งศาลชั้นต้น คงเหลือปัญหาเกี่ยวกับมูลหนี้อันดับที่ 2 ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลูกหนี้ที่ 1 ได้เปิดเล็ตเตอร์อออฟเครดิตซึ่งเป็นวิธีการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านเจ้าหนี้สาขาราษฎร์บูรณะ เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย เจ้าหนี้ได้แจ้งให้ลูกหนี้ที่ 1 นำเงินค่าสินค้าที่เจ้าหนี้ได้จ่ายแทนไปมาชำระเพื่อลูกหนี้จะได้รับเอกสารเกี่ยวกับการไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่ลูกหนี้ที่ 1 ไม่มีเงินชำระลูกหนี้ที่ 1 จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทให้ไว้แก่เจ้าหนี้รวม 11 ฉบับ เพื่อขอรับเอกสารไปออกสินค้า โดยมีข้อตกลงว่า ลูกหนี้ที่ 1 จะนำเงินมาชำระค่าสินค้าให้แก่เจ้าหนี้ตามจำนวนและกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีท และลูกหนี้ที่ 1 ตกลงชำระดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี และสัญญาว่าในกรณีที่ลูกหนี้ที่ 1 ผิดสัญญา ลูกหนี้ที่ 1 ยอมรับว่า เจ้าหนี้ยังไม่ได้สละสิทธิในเงื่อนไขที่เจ้าหนี้มีอยู่ตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิต สัญญาทรัสต์รีซีทและเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวกันสัญญาทรัสต์รีซีท 11 ฉบับ รวมเป็นเงิน891,808.23 บาท และเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ดังกล่าวนายวิบูลย์ จันทรางศุ และนายวิบูลศักดิ์ มัณฑะจิตร นายชยงค์กังสดาร และลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่เจ้าหนี้โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามเอกสารหมาย จ.14 ถึง จ.24ลูกหนี้ที่ 1 มิได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ได้ทวงถามโดยชอบแล้ว ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2536 เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวฟ้องลูกหนี้ทั้งสองเป็นคดีล้มละลายศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่17 มกราคม 2537 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2536 และ10 สิงหาคม 2536 นายวิบูลย์ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้เป็นเงิน300,000 บาท และ 205,208.33 บาท ให้แก่เจ้าหนี้ตามลำดับหลังจากนั้นก็มิได้มีการชำระหนี้อีก เจ้าหนี้นำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้แล้ว เมื่อคิดคำนวณถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ทั้งสองค้างชำระต้นเงิน 864,823.75 บาท และดอกเบี้ยอีก933,704.01 บท รวมเป็นเงิน 1,798,527.76 บาท
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองย้อนขึ้นไปนับแต่วันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี หรือไม่ เจ้าหนี้ฎีกาว่า นายวิบูลย์ จันทรางศุ เป็นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ เมื่อวันที่18 พฤษภาคม 2536 จำนวน 300,000 บาท และวันที่ 10 สิงหาคม 2536ชำระอีกจำนวน 205,208.33 บาท ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 นั้น เห็นว่า หากนายวิบูลย์ค้ำประกันได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันนั้น ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าให้มีผลไปถึงลูกหนี้ด้วย แม้ลูกหนี้ทั้งสองจะต้องรับผิดร่วมกับผู้ค้ำประกัน กำหนดอายุความของลูกหนี้แต่ละคนก็ต้องเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแต่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้น การที่นายวิบูลย์ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ทั้งสองย่อมไม่ต้องถูกผูกพันในเรื่องอายุความสะดุดหยุดลง ฉะนั้น จึงไม่ทำให้อายุความที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากลูกหนี้ทั้งสองสะดุดหยุดลงด้วย เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ในอายุความเพียง 5 ปี ฎีกาข้อนี้ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ 5 ปี โดยนำจำนวนเงินที่นายวิบูลย์ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน505,208.33 บาท มาหักกับดอกเบี้ยที่พิพากษาให้นั้นชอบหรือไม่ในข้อนี้เจ้าหนี้ฎีกาว่า แม้ดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้มาเป็นดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ซึ่งขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1) แต่กรณีหาใช่ว่าลูกหนี้มิได้เป็นหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธินำเงินดังกล่าวมาหักชำระหนี้ดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระก่อนได้ ถึงแม้ดอกเบี้ยในส่วนดังกล่าวจะเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท จำนวน 11 ฉบับ คิดถึงวันเรียกเก็บค้างชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 891,808.23 บาท นับตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้รายนี้ลูกหนี้ทั้งสองไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เลยจนบัดนี้จึงถือว่าดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้มีสิทธิคิดจากเงินที่ค้างชำระดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(1) บัญญัติไว้ให้สิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยค้างชำระหนี้ได้ในอายุความ 5 ปี ดอกเบี้ยที่ค้างเกินกว่า 5 ปี ซึ่งขาดอายุความแม้ยังถือเป็นภาระหนี้ที่ลูกหนี้ทั้งสองค้างชำระแก่เจ้าหนี้ และผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องและก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่หนี้ของส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ก็เป็นหนี้ที่ขาดอายุความ ซึ่งต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ดังนั้นเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธินำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ดังกล่าวมาหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างส่งเกินว่า 5 ปี อันเป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้วได้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท เป็นต้นเงินจำนวน 891,808.23 บาท กับให้มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระได้เพียง 5 ปี โดยนับจากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย้อนหลังลงไป 5 ปี หักด้วยเงินที่ผู้ค้ำประกันให้เจ้าหนี้จำนวนเงิน 505,208.33 บาท แล้วคงเหลือหนี้ที่ลูกหนี้ทั้งสองต้องรับผิดชำระเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น1,133,415.97 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share