คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3441/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมเป็น19 งวด งวดละเดือน และขณะโจทก์ขอหมายบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยนั้น โจทก์ได้รับชำระหนี้แต่ละงวดตามที่ตกลงกันนั้น เมื่อต่อมาโจทก์ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนทั้ง 19 งวด แล้วศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่ง เพิกถอนการบังคับคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการบังคับ คดีครั้งนี้มิใช่เพราะเหตุที่จำเลยได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 295(1)จึงไม่ใช่การถอนการบังคับคดีตามบทบัญญัติ ดังกล่าว แต่เป็นเรื่องการยึดทรัพย์จำเลยซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้ว ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ตามบทบัญญัติในมาตรา 149 วรรคแรก เมื่อโจทก์เป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ไปทำการยึดทรัพย์สินของจำเลย จึงถือว่าโจทก์ได้ดำเนินกระบวน พิจารณาอย่างอื่นตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติดังกล่าวเมื่อไม่มี การขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ยึดไว้ โจทก์จึงมีหน้าที่ จะต้อง ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี หาใช่จำเลยจะต้องเป็นผู้ชำระไม่ และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 295 ตรี.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คจำนวนเงิน 120,000 บาท ต่อมาวันที่ 5 พฤศจิกายน 2529 โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมชำระหนี้เป็นเงิน122,625 บาท ภายในวันที่ 5 เมษายน 2530 แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่ได้สั่งคืนให้เป็นพับ ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2530 โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา และวันที่ 17 มิถุนายน 2530 เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้ยึดทรัพย์ที่ดินของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2530 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า หลังจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลและศาลพิพากษาคดีตามยอมแล้ว โจทก์กับจำเลยได้ทำความตกลงกันนอกศาลเกี่ยวกับการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวโดยโจทก์ตกลงให้จำเลยชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเงินรวม 125,000 บาท และโจทก์ยอมให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวเป็นรายเดือน รวม 19 เดือน และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็ครวม 19 ฉบับ แต่ละฉบับสั่งจ่ายเงินและลงวันที่ตามที่ตกลงกันดังกล่าวฝห้แก่โจทก์ไว้แล้วด้วย และโจทก์ได้รับเงินตามเช็คฉบับที่ถึงกำหนดชำระไปแล้ว ที่โจทก์แถลงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีโดยอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหมายบังคับคดีและขอให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆเกี่ยวกับการบังคับคดีด้วย ศาลชั้นต้นนัดพร้อมวันที่ 20 สิงหาคม2530 ถึงวันนัดโจทก์แถลงรับว่าโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยนอกศาลตามที่จำเลยแถลงในคำร้องดังกล่าวจริง และโจทก์ได้นำเช็คฉบับที่ถึงกำหนดชำระเงินแล้วไปเรียกเก็บเงินได้แล้วรวม 8 ฉบับ เป็นเงิน40,000 บาท ยังมีเช็คอีก 11 ฉบับ ที่ไม่ถึงกำหนดชำระเงิน ถ้าเช็คทั้ง 11 ฉบับรับเงินได้โจทก์ก็จะไม่ดำเนินการให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้จำเลยแถลงว่าพอใจตามที่โจทก์แถลงและไม่ติดใจที่จะดำเนินการตามคำร้องฉบับดังกล่าว ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2530 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ได้รับเงินตามเช็คอีก 11 ฉบับนั้นแล้ว ขอให้งดการบังคับคดีตามที่โจทก์แถลงไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้ก่อน และวันที่ 30 สิงหาคม 2531 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนหมายบังคับคดีทั้งหมด ศาลชั้นต้นสอบโจทก์แล้วแถลงรับว่า โจทก์ได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยสั่งชำระหนี้ทุกฉบับครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้ถอนการบังคับคดีได้ต่อเมื่อได้มีการชำระเงินค่าธรรมเนียมการยึดแล้วไม่มีการขายต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีครบถ้วนก่อน ต่อมาวันที่ 20มิถุนายน 2532 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีหรือถอนการยึดทรัพย์คดีนี้ตามที่ศาลมีคำสั่งและเรียกให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมการยึดแล้วไม่มีการขาย แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับมีหมายแจ้งให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295(1) ซึ่งจำเลยจะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 295 ตรี ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนการบังคับคดีตามคำร้องขอของจำเลยก็ถือว่าเป็นการถอนโดยคำสั่งศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 ตรีโจทก์ในฐานะผู้ขอให้ยึดจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมตามตาราง 5ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กรณีไม่ใช่การถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295(1) พิพากษากลับ ให้โจทก์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่ากรณีเป็นเรื่องศาลมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 295(1) จำเลยจึงต้องวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีหรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นั้น เห็นว่า การถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295(1) ดังกล่าวนั้นต้องเป็นกรณีที่จำเลยได้วางเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีหรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือได้หาประกันมาให้จนเป็นที่พอใจของศาลสำหรับจำนวนเงินเช่นว่านั้น ในคดีนี้จำเลยมิได้วางเงินทั้ง 3 อย่างนั้นต่อศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี และจำเลยได้โต้แย้งว่าโจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีโดยไม่ชอบเพราะโจทก์ตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมเป็น 19 งวด งวดละเดือน และขณะโจทก์ขอหมายบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยนั้น โจทก์ก็ได้รับชำระหนี้แต่ละงวดตามที่ตกลงกันซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่าเป็นความจริง และเมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนทั้ง 19 งวดแล้วศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งเพิกถอนการบังคับคดีจึงหมายความว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการบังคับคดีครั้งนี้มิใช่เพราะเหตุที่จำเลยได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 295(1) กรณีจึงมิใช่การถอนการบังคับคดีตามบทมาตรา ดังกล่าว ตามปัญหาเป็นเรื่องการยึดทรัพย์จำเลยซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายซึ่งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีร้อยละ 3ครึ่ง ของราคาทรัพย์สินที่ยึดตามที่กำหนดไว้ในตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงต้องบังคับคดีตามบทบัญญัติในมาตรา 149 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งบัญญัติว่า “ฯลฯ ค่าธรรมเนียมศาลในการยื่นคำฟ้อง ฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกา หรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นตามที่ระบุไว้ในตารางท้ายประมวลกฎหมายนี้หรือมาตรา 150 นั้นให้คู่ความผู้ยื่นคำฟ้องฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกาหรือดำเนินกระบวนพิจารณานั้น ๆ หรือคู่ความฝ่ายที่ศาลระบุไว้ในคำสั่งในกรณีที่กระบวนพิจารณานั้นได้กระทำโดยคำสั่งศาลเป็นผู้ชำระ ฯลฯ” เมื่อโจทก์เป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้ จึงถือว่าโจทก์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นตามที่ระบุไว้ในตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามบทมาตราดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อไม่มีการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ยึดไว้ โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหาใช่จำเลยจะต้องเป็นผู้ชำระดังที่โจทก์ฎีกาไม่ กรณีนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 ตรีเพราะบทมาตราดังกล่าวมิใช่บทบัญญัติว่าด้วยการกำหนดให้ฝ่ายใดรับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่เป็นบทบัญญัตว่าด้วยการให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีขอหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของผู้ที่มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเนื่องจากผู้นั้นได้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้อื่นไว้แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น เพราะมีการถอนการบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี หรือโดยคำสั่งศาล เป็นผลให้ผู้นั้นต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ผู้นั้นไม่ยอมชำระค่าธรรมเนียมนั้น มาตรานี้จึงบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมนั้น และให้บังคับคดีได้เองโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งปวงด้วย
พิพากษายืน.

Share