คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3436/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ ย่อมแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงให้มีการ ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หักกลบลบกัน โดยมีการ หักทอนบัญชีกันอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด บัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ยังคงมีการเดินสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องโดยจำเลยที่ 1 ยังคงใช้เช็คฝากถอนเงินจากบัญชีตลอดมาอีกประมาณ 50 ครั้ง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้นำหนี้อันเกิดจากสัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มาหักทอนบัญชีกันในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันด้วยแต่อย่างใด แม้ในสัญญาทรัสต์รีซีทที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์จะมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด ยินยอมให้โจทก์หักจากบัญชีเงินฝากทุกประเภทของจำเลยที่ 1 ได้ทันที ก็เป็นการแสดงเจตนาให้สิทธิแก่โจทก์ แต่มิใช่ข้อตกลงที่กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องปฏิบัติ การที่จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ก็เพื่อความสะดวกและความคล่องตัวในการประกอบกิจการค้าขายของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ มิได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่งมาชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเสียในเวลาที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด หรือภายในระยะเวลาอันสมควร ย่อมเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 ที่ยังมีเงินฝากในบัญชีให้เดินสะพัดต่อไป ทำให้เกิดสภาพคล่องและธุรกิจของจำเลยที่ 1 ไม่หยุดชะงักเพราะขาดเงินสดหมุนเวียน ซึ่งหากธุรกิจของ จำเลยที่ 1 ต้องหยุดชะงักก็จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าการที่จำเลยที่ 1 ยังคงต้องเสียดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท อีกต่อไป การที่โจทก์มิได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันนั้น แม้จะเล็งเห็นได้ว่าโจทก์ย่อมได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่นานขึ้น แต่ก็เป็นลักษณะของผลประโยชน์โดยตรงจากการประกอบธุรกิจกิจการธนาคารพาณิชย์ตาม วัตถุประสงค์ของโจทก์อยู่แล้ว จำเลยที่ 1 เองก็มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนเช่นกัน ย่อมต้องทราบ ว่าเงินฝากในบัญชีกระแสรายวันของตนมีอยู่เท่าใด และโจทก์ได้หักเงินฝากในบัญชีกระแสรายวันชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแล้วหรือไม่ หากโจทก์ยังไม่ได้หักเงินจากบัญชีกระแสรายวันภายในระยะเวลาอันสมควรและเงินในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นเจ้าหนี้โจทก์อยู่ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิถอนเงินจากบัญชีนั้นมาชำระหนี้เพื่อไม่ต้องเสียดอกเบี้ยต่อไปได้ การที่จำเลยที่ 1 ยังเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์โดยเบิกถอนเงินในบัญชีของตนเรื่อยมาและมิได้ดำเนินการอย่างใด ๆ เมื่อได้รับหนังสือของโจทก์ที่ทวงถามให้ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยไม่รักษาผลประโยชน์ของตนเอง กรณีจึงไม่อาจถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตที่ไม่หักเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมาชำระหนี้รายนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินจำนวน ๑,๗๑๙,๓๗๖.๓๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง จำนวน ๓๕๗,๑๐๐.๓๓ บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน ๒,๐๗๖,๔๗๖.๖๖ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕.๕๐ ต่อปี ในต้นเงินจำนวน ๑,๗๑๙,๓๗๖.๓๓ บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า วันที่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทถึงกำหนดชำระนั้น ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ ๑ และบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเปิดไว้กับโจทก์มีเงินเพียงพอสามารถชำระหนี้ได้ หากโจทก์นำเงินในบัญชีทั้งสองไปหักเพื่อชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา จำเลยทั้งสองก็จะไม่ค้างชำระหนี้ทั้งต้นเงินและ ดอกเบี้ยตามคำฟ้อง การที่โจทก์มิได้หักเงินออกจากบัญชีของจำเลยทั้งสองในขณะหนี้ถึงกำหนดชำระแต่เพิ่งมาหักในภายหลัง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นความผิดของโจทก์ ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน ๑,๕๒๔,๙๖๘.๒๘ บาท โดยให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดในวงเงินไม่เกินจำนวน ๒,๖๐๐,๐๐๐ บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์กำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตชำระเงินค่าสินค้าที่จำเลยที่ ๑ สั่งซื้อจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แก่ผู้ขายแทนจำเลยที่ ๑ ไปก่อนและจำเลยที่ ๑ ตกลงจะชำระเงินค่าสินค้าพร้อมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ คืนโจทก์เมื่อสินค้า มาถึงประเทศไทยแล้ว โจทก์ดำเนินการตามคำขอของจำเลยที่ ๑ แล้ว ต่อมาสินค้าได้ถูกส่งมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ ๑ ยังมิได้ชำระราคาสินค้าพร้อมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ โดยขอรับสินค้าไปก่อนและตกลงจะชำระค่าสินค้าพร้อมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลา โดยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงิน ค่าสินค้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แทนจำเลยที่ ๑ ไป และตามสัญญาข้อ ๗ หากจำเลยที่ ๑ ตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยที่ ๑ ยอมให้โจทก์หักบัญชีเงินฝากทุกประเภทที่จำเลยที่ ๑ มีอยู่แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญานี้ได้ทันที โดยมีจำเลยที่ ๒ เข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินจำนวน ๒,๖๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๒ ได้มอบสมุดบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ ๒ ที่ฝากไว้แก่โจทก์เป็นหลักประกันการชำระหนี้ ต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าสินค้า ดอกเบี้ย และค่าอากรแสตมป์ เป็นเงินรวม ๒,๖๗๘,๗๕๑.๑๗ บาท จำเลยที่ ๑ ผิดนัดและเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหนี้โจทก์อยู่จำนวน ๑,๘๖๒,๑๖๗.๘๐ บาท แต่โจทก์มิได้นำเงินในบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ ๒ และในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ ๑ มาหักชำระหนี้ ต่อมาโจทก์จึงได้นำเงินในบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ ๒ จำนวน ๑,๑๕๓,๗๘๒.๘๔ บาท มาชำระหนี้บางส่วน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า การที่โจทก์ไม่นำเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ ๑ มาหักชำระหนี้รายนี้ในขณะที่จำเลยที่ ๑ ผิดนัด เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับ ความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ ย่อมแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตกลงให้มีการตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ หักกลบลบกัน โดยมีการหักทอนบัญชีกันอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าหลังจากที่จำเลยที่ ๑ ผิดนัด บัญชีเงินฝากกระแสรายวันของ จำเลยที่ ๑ ยังคงมีการเดินสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องโดยจำเลยที่ ๑ ยังคงใช้เช็คฝากถอนเงินจากบัญชีตลอดมาอีกประมาณ ๕๐ ครั้ง ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตกลงกันให้นำหนี้อันเกิดจากสัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มาหักทอนบัญชีกันในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันด้วยแต่อย่างใด แม้ในสัญญาทรัสต์รีซีทที่ จำเลยที่ ๑ ทำไว้กับโจทก์จะมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ ๑ ผิดนัด ยินยอมให้โจทก์หักจากบัญชีเงินฝากทุกประเภทของจำเลยที่ ๑ ได้ทันที ก็เป็นการแสดงเจตนาให้สิทธิแก่โจทก์ แต่มิใช่ข้อตกลงที่กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องปฏิบัติ การที่จำเลยที่ ๑ เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ก็เพื่อความสะดวกและความคล่องตัวในการประกอบ กิจการค้าขายของจำเลยที่ ๑ การที่โจทก์มิได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่งมาชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเสียในเวลาที่จำเลยที่ ๑ ผิดนัด หรือภายในระยะเวลาอันสมควร ย่อมเป็นผลดี แก่จำเลยที่ ๑ ที่ยังมีเงินฝากในบัญชีให้เดินสะพัดต่อไป ทำให้เกิดสภาพคล่องและธุรกิจของจำเลยที่ ๑ ไม่หยุดชะงัก เพราะขาดเงินสดหมุนเวียน ซึ่งหากธุรกิจของจำเลยที่ ๑ ต้องหยุดชะงักก็จะก่อให้เกิดผลเสียหายมากกว่าการที่ จำเลยที่ ๑ ยังคงต้องเสียดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีทอีกต่อไป การที่โจทก์มิได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันนั้น แม้จะเล็งเห็นได้ว่าโจทก์ย่อมได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่นานขึ้น แต่ก็เป็นลักษณะของผลประโยชน์โดยตรงจากการประกอบธุรกิจกิจการธนาคารพาณิชย์ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์อยู่แล้ว จำเลยที่ ๑ เองก็มีหน้าที่ต้องดูแลรักษา ผลประโยชน์ของตนเช่นกัน ย่อมต้องทราบว่าเงินฝากในบัญชีกระแสรายวันของตนมีอยู่เท่าใด และโจทก์ได้ หักเงินฝากในบัญชีกระแสรายวันชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแล้วหรือไม่ หากโจทก์ยังไม่ได้หักเงินจาก บัญชีกระแสรายวันภายในระยะเวลาอันสมควรและเงินในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ ๑ ยังคงเป็นเจ้าหนี้โจทก์อยู่ จำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธิถอนเงินจากบัญชีนั้นมาชำระหนี้เพื่อไม่ต้องเสียดอกเบี้ยต่อไปได้ การที่จำเลยที่ ๑ ยังเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์โดยเบิกถอนเงินในบัญชีของตนเรื่อยมาและมิได้ดำเนินการอย่างใด ๆ เมื่อได้รับหนังสือของโจทก์ ที่ทวงถามให้ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ปล่อยปละละเลยไม่รักษาผลประโยชน์ของตนเอง กรณีจึงไม่อาจถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตที่ไม่หักเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมาชำระหนี้รายนี้ คำพิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๕,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.

Share