คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3434/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ มาตรา 10 กำหนดให้อำนาจในการสั่งคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่เป็นของศาลอุทธรณ์ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องดังกล่าวเสียเองจึงไม่ชอบ อย่างไรก็ตามเมื่อคดีได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำความเห็นอีก เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลจึงพิพากษายกคำร้อง คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 10 วรรคสอง ผู้ร้องไม่มีสิทธิฎีกาได้อีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ร้องตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2542 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำมาพิจารณาในศาลชั้นต้นเป็นพยานเท็จและเบิกความแตกต่างกัน เป็นการปรักปรำผู้ร้องให้ต้องรับโทษในทางอาญา ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่จะนำเข้าสืบความบริสุทธิ์ของผู้ร้องได้ จึงขอให้รื้อฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2542 ว่า คำร้องของผู้ร้องมิได้บรรยายรายละเอียดมาให้ชัดแจ้งว่าพยานหลักฐานใหม่มีที่มาอย่างไร และมีความสำคัญต่อคดีอย่างไร กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 5(1)(2)(3) และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 28 ธันวาคม 2542 มีใจความขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องและยื่นคำร้องมาใหม่เพื่อพิจารณา และขอถอนคำร้องเดิมฉบับลงวันที่ 2 ธันวาคม 2542 ของผู้ร้อง กับได้บรรยายรายละเอียดเหมือนกับคำร้องฉบับแรกโดยยื่นบัญชีระบุพยานใหม่มาท้ายคำร้อง และระบุในคำร้องเพิ่มเติมใจความว่า ผู้ร้องมีพยานใหม่ตามบัญชีระบุพยานอันดับที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจะสามารถชี้ชัดได้ว่ากรอบพระทองคำของกลางในคดีดังกล่าวเป็นของผู้ร้องหรือผู้ตายกันแน่ พยานอันดับที่ 13 และที่ 14 จะแสดงให้ศาลเห็นได้ว่าใบรับจำนำตามเอกสารหมาย จ.7 ไม่ใช่พยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายผู้ร้องสามารถนำพยานหลักฐานใหม่ของผู้ร้องเข้าสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ร้องได้ และสามารถใช้หักล้างพยานหลักฐานเดิมของโจทก์ให้เห็นได้ว่าผู้ร้องมิได้ร่วมกระทำความผิดในคดีดังกล่าว ขอให้รื้อฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 ว่า คำร้องของผู้ร้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายมาแต่ต้น และศาลมีคำสั่งไม่รับไปแล้ว จะมาขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลมีคำสั่งใหม่ไม่ได้ ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องฉบับหลังเป็นการยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฉบับใหม่ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าคำร้องของผู้ร้องอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่20 มกราคม 2543 แล้วให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 28 ธันวาคม 2542 ใหม่เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2543 ว่า ตามคำร้องไม่ได้บรรยายรายละเอียดให้ปรากฏชัดแจ้งในคำร้องว่าพยานหลักฐานใหม่ของผู้ร้องมีที่มาและสำคัญแก่คดีอย่างไรคำร้องของผู้ร้องจึงไม่มีมูลที่จะรับไว้ไต่สวน อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ได้บัญญัติในเรื่องการยื่นอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ มาใช้ คำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ส่งอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกคำร้อง และมีคำสั่งในอุทธรณ์ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ขออุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยแล้วจึงไม่อาจสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องลงวันที่ 8สิงหาคม 2543 ที่ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แล้วมีคำสั่งในอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า เมื่อศาลมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ขออุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยแล้วจึงไม่อาจสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้อง อันเป็นคำสั่งปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์นั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะอุทธรณ์ดังกล่าวเมื่อมีการยื่นโดยถูกต้องตามกฎหมายก็ชอบที่จะมีคำสั่งรับไว้พิจารณาตามลำดับชั้นศาลได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ให้รับอุทธรณ์ของผู้ร้องและให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป

ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมาศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ยกคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่28 ธันวาคม 2542 ด้วย

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 บัญญัติว่า “เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนการไต่สวนและความเห็นแล้ว ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับคำร้องและสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น

คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด คดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง โดยมิได้ทำความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง โดยสั่งยกคำร้องเสียเองนั้นไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 10 วรรคหนึ่งเพราะอำนาจในการสั่งคำร้องเป็นของศาลอุทธรณ์ อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำความเห็นมาอีก ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องด้วยเหตุผลว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูล คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องจึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 10 วรรคสอง ผู้ร้องไม่มีสิทธิฎีกาได้อีกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาผู้ร้อง

Share