คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3430/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 จะกู้เงินโจทก์และผู้ให้กู้รายอื่นโดย ทำสัญญากู้เงินฉบับเดียวกันก็ตามแต่จำเลยที่ 1 กู้เงินจาก โจทก์และผู้ให้กู้แต่ละรายมีกำหนดจำนวนเงินกู้ที่แน่นอน แม้จะมีหลักประกันร่วมกันก็ถือว่าหนี้แต่ละรายมีเจ้าหนี้ เพียงรายเดียว เมื่อจำเลยทั้งห้าผิดสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับ โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งห้าไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นในคำให้การว่า โจทก์มีส่วนทำให้จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 35,773,287.67 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีของต้นเงิน 25,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 3420, 3421, 3424, 3448, 3869, 4358 และ 4430 ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมืองสมุทรสาคร (บ้านบ่อ) จังหวัดสมุทรสาคร และเครื่องจักรหมายเลขทะเบียน 0048 ถึง 0183, 0014 ถึง 0070 และ 0691 ถึง 0798 กับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยทั้งห้าทำสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหธนกิจไทย จำกัด มิใช่ทำกับโจทก์ โจทก์ฟ้องคดีโดยใช้สิทธิของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหธนกิจไทย จำกัด แต่เพียงรายเดียวจึงไม่ชอบโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 35,773,287.67 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีของต้นเงิน 25,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2538 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 3420, 3421, 3424, 3448, 3869, 4358 และ 4430 ตำบลบางกระเจ้า อำเภอสมุทรสาคร (บ้านบ่อ)จังหวัดสุมทรสาคร และเครื่องจักรหมายเลขทะเบียน 0048 ถึง 0183, 0014 ถึง 0070 และ 0691 ถึง 0798 ออกจากทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 25,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่บังคับจำนองเครื่องจักรหมายเลขทะเบียน 0767 และ 0792 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งห้าข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์จำนวน 25,000,000 บาท เป็นส่วนหนึ่งของการให้กู้เงินในโครงการก่อสร้างโรงงานร่วมกับสถาบันการเงินอื่น โดยมีหลักทรัพย์และบุคคลค้ำประกันชุดเดียวกันในสัญญาฉบับเดียวกัน จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้โจทก์จะฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้กู้รายอื่นไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.26 แล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะกู้เงินโจทก์และผู้ให้กู้รายอื่นโดยทำสัญญากู้เงินฉบับเดียวกันก็ตามแต่จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์และผู้ให้กู้แต่ละรายมีกำหนดจำนวนเงินกู้ที่แน่นอน แม้จะมีหลักประกันร่วมกันก็ถือว่าหนี้แต่ละรายมีเจ้าหนี้เพียงรายเดียว เมื่อจำเลยทั้งห้าผิดสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์เป็นผลจากการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนที่ทำให้จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัด และหากจำเลยทั้งห้าจะต้องรับผิดในดอกเบี้ยไม่เกินกว่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 อันเป็นอัตราดอกเบี้ยในขณะทำสัญญานั้น เห็นว่า จำเลยทั้งห้าไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นในคำให้การว่า โจทก์มีส่วนทำให้จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share