คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 343/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินให้แก่เจ้าหนี้ โดยโจทก์เป็นผู้รับอาวัลโจทก์ไม่ใช่ลูกหนี้โดยตรง เพียงแต่ต้องรับผิดชดใช้เงินตามตั๋วแลกเงินในเมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายไม่ชำระ ความผูกพันของโจทก์จำเลยซึ่งมีต่อเจ้าหนี้ผู้ทรงตั๋วแลกเงิน.จึงมิใช่เป็นลูกหนี้ร่วมกันจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 296 แม้มาตรา 967 จะบัญญัติให้ผู้สั่งจ่ายและผู้รับอาวัลต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง ก็เพื่อประโยชน์แก่ผู้ทรงในอันที่จะว่ากล่าวเรียกเงินตามตั๋ว แต่ในระหว่างผู้สั่งจ่ายกับผู้รับอาวัล ผู้สั่งจ่ายจะต้องชำระเงินตามจำนวนที่ระบุในตั๋วแลกเงินก่อน หากผู้สั่งจ่ายไม่ชำระผู้รับอาวัลจึงต้องรับผิดชดใช้ให้ เมื่อจำเลยไม่ชำระเงินตามตั๋วแลกเงิน และโจทก์ใช้เงินให้เจ้าหนี้ผู้ทรงตั๋วแลกเงินไปแล้วบางส่วนโดยมีหลักฐานการชำระหนี้ โจทก์ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งโจทก์ประกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคสามโดยหาจำต้องชำระแล้วทั้งหมดหรือถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินในตั๋วแลกเงินไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยืมเงินธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาตรังไป 350,000 บาท โดยออกตั๋วแลกเงินให้ และโจทก์เป็นผู้รับอาวัล จำเลยผิดนัด ธนาคารฯ ฟ้องจำเลยและโจทก์ให้ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินรวมทั้งค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 496,060.26 บาท ศาลพิพากษาให้จำเลยและโจทก์ใช้เงินจำนวนนี้ คดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ธนาคารฯ บังคับคดีให้โจทก์ชำระแทนจำเลย โจทก์ได้ชำระไปแล้วเป็นเงิน 179,534 บาท โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้รายนี้แก่โจทก์ จำเลยเพิกเฉยโดยไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้ถือว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์จำเลยต้องรับผิดในหนี้ร่วมกัน โจทก์ชำระหนี้ให้ธนาคารไปยังไม่ถึงกึ่งที่โจทก์จะต้องรับผิด โจทก์ไม่อยู่ในฐานะรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่รับฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้รับอาวัลค้ำประกันการใช้เงินตามตั๋วแลกเงินที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาตรัง เป็นเงิน 350,000 บาท โจทก์จึงมิใช่เป็นลูกหนี้โดยตรงที่จะพึงต้องจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินฉบับนั้น โจทก์เพียงแต่ต้องรับผิดชดใช้เงินตามตั๋วแลกเงินนั้นในเมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายไม่ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินความผูกพันของโจทก์จำเลยที่มีต่อธนาคารผู้ทรงตั๋วแลกเงินจึงมิใช่เป็นลูกหนี้ร่วมกันจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 296 จะนำบทบัญญัติดังกล่าวแล้วมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ และที่มาตรา 967 บัญญัติให้ผู้สั่งจ่ายและผู้รับประกันด้วยอาวัลต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรงนั้น ก็เพื่อประโยชน์แก่ผู้ทรงในอันที่จะว่ากล่าวเรียกเงินตามตั๋ว แต่ในระหว่างผู้สั่งจ่ายกับผู้รับประกันด้วยอาวัลผู้สั่งจ่ายจะต้องชำระเงินตามจำนวนที่ระบุในตั๋วแลกเงินก่อน หากผู้สั่งจ่ายไม่ชำระผู้รับประกันด้วยอาวัลจึงต้องรับผิดชดใช้ในกรณีนี้ปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินให้ธนาคาร และโจทก์ใช้เงินให้ธนาคารไปแล้วบางส่วน โดยมีหลักฐานการชำระหนี้ โจทก์ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งโจทก์ประกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรค 3 โดยไม่จำต้องชำระแล้วทั้งหมด หรือถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินในตั๋วแลกเงินดังที่จำเลยฎีกา ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยเป็นผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ก็เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์จะได้นำสืบต่อไปตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดให้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณานั้นชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share