คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 343/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ม. 29 วรรค 2 ไม่ใช่แต่เพียงเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติ ม. 29 วรรคแรก หากแต่เป็นบทบัญญัติที่มีผลทั่วไปด้วยว่า หากมีการลวงขายเกิดขึ้นแล้ว ทางแก้ของผู้เสียหายจะพึงมีอยู่อย่างใด อาทิเช่น ในมูลกรณีละเมิด ก็พึงมีอยู่อย่างนั้น มิพักต้องคำนึงว่า ผู้ใดจดทะเบียนไว้หรือไม่ หรือจดทะเบียนก่อนหลังกันอย่างไร
ความหมายคำว่า “ลวงขาย” ใน พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ม. 29 วรรค 2 มิได้จำกัดเฉพาะสินค้าชนิดเดียวกันหรือประเภทเดียวกันเท่านั้น หากแต่มีความหมายกว้างครอบคลุมถึงกรณีต่าง ๆ ซึ่งจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น ซึ่งมีความหมายได้ว่าไม่ใช่เป็นการลวงในวัตถุเท่านั้น หากแต่เป็นการลวงในความเป็นเจ้าของด้วย
ฉะนั้น เมื่อจำเลยเอาคำว่า “แฟ๊บ” (FAB) ในลักษณะและสีเช่นเดียว กับของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลย ก็ย่อมเป็นการลวงขาย ผิดกฎหมายเรื่องละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ได้คิดประดิษฐ์คำว่า “แฟ๊บ” (FAB) เป็นชื่อใช้กำกับสินค้าของโจทก์และได้จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าไว้ทั่วโลก จำเลยได้แอบอ้างเอา คำว่า “แฟ๊บ” (FAB) ในลักษณะและสีเช่นเดียวกับของโจทก์ไปใช้กำกับสินค้าไม่จิ้มฟันของจำเลยและนำสินค้าของจำเลยออกลวงขายประชาชนให้เข้าใจผิดคิดว่าสินค้าไม่จิ้มฟันของจำเลยเป็นสินค้าที่ประดิษฐ์โดยบริษัท โจทก์ เป็นเหตุให้การค้าของโจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยเลิกใช้ คำว่า “แฟ๊บ” (FAB) และใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยเป็นผู้ทำอุตสาหกรรมผลิตไม้จิ้มฟัน จึงได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการคำ คำว่า “แฟ๊บ” (FAB) บนกล่องไม้จิ้มฟันของจำเลย ซึ่งเป็นสิ้นค้าจำพวก ๕๐ ก่อนโจทก์ จำเลยมิได้แอบอ้างหรือลวงประชาชนให้หลงผิดและสินค้าของจำเลยเป็นคนละจำพวกกับของโจทก์ โจทก์ก็ไม่เสียหาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานของทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษาว่า โจทก์ยังนำคดีมาสู่ศาลเพื่อป้องกันและเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นไม่ได้ การที่จำเลยเอาคำว่า “แฟ๊บ” (FAB) ในลักษณะและสีเช่นเดียวกับของโจทก์ไปกำกับสินค้าออกจำหน่าย ยังไม่เป็นเหตุพอที่จะให้ฟังว่า จำเลยเอาสินค้าไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ เพราะโจทก์ยังไม่ได้ประดิษฐ์ไม้จิ้มฟันออกจำหน่าย และรูปคดีก็ไม่อาจที่จะปรับให้เป็นเรื่องละเมิดสิทธิได้ เพราะจำเลยมิได้ทำผิดกฎหมายอย่างใด จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีต้องด้วย พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ ม. ๒๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้ แต่การกระทำของจำเลยเป็นการนำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้สำหรับสินค้าของตน เป็นการลวงขาย ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ ม. ๒๙ วรรค ๒ โจทก์มีสิทธิที่จะไม่ให้จำเลยนำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้ประกอบสินค้าของจำเลยได้ ส่วนค่าเสียหายไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โฆษณาแก้ไขอย่างไร อาจเป็นการโฆษณาเกี่ยวกับการค้าของโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่ชอบที่จะได้รับชดใช้ค่าโฆษณาจากจำเลย พิพากษาแก้ให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้สำหรับไม้จิ้มฟันว่า “แฟ๊บ” (FAB) ซึ่งมีรูปพรรณและสีเหมือนของโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ ม. ๒๙ วรรค ๒ ไม่ใช่แต่เพียงเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติ ม. ๒๙ วรรคแรก หากแต่เป็นบทบัญญัติที่มีผลทั่วไปด้วยว่า หากมีการลวงขายเกิดขึ้นแล้ว ทางแก้ของผู้เสียหายจะพึงมีอยู่อย่างใด อาทิเช่น ในมูลกรณีละเมิด ก็พึงมีอยู่อย่างนั้น มิพักต้องคำนึงว่า ผู้ใดจดทะเบียนไว้หรือไม่ หรือจดทะเบียนก่อนหลังกันอย่างไร
ความหมายคำว่า “ลวงขาย” ใน พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ ม. ๒๙ วรรค ๒ มิได้จำกัดเฉพาะสินค้าชนิดเดียวกันหรือประเภทเดียวกันเท่านั้น หากแต่มีความหมายกว้างครอบคลุมถึงกรณีต่าง ๆ ซึ่งจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น ซึ่งมีความหมายได้ว่าไม่ใช่เป็นการลวงในวัตถุเท่านั้น หากแต่เป็นการลวงในความเป็นเจ้าของด้วย
ฉะนั้น เมื่อจำเลยเอาคำว่า “แฟ๊บ” (FAB) ในลักษณะและสีเช่นเดียว กับของโจทก์ไปใช้กับไม้จิ้มฟันของจำเลย ก็ย่อมเป็นการลวงขาย ว่าเป็นสินค้าของโจทก์แล้ว เป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิจะทำได้ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการผิดกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ อาศัยเหตุดังกล่าวนี้ จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาจำเลย

Share