แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สหกรณ์โจทก์จัดอาหารสัตว์มาจำหน่าย แม้โจทก์จะมีระเบียบการให้สินเชื่อแก่สมาชิก ระเบียบดังกล่าวก็เพียงกำหนดวงเงินที่จะให้สินเชื่อและกำหนดวิธีการที่จะควบคุมมิให้ผู้ที่ได้รับสินเชื่อจำหน่ายทรัพย์สินของตนเท่านั้น ซึ่งถ้าสมาชิกหรือบุคคลภายนอกมาขอซื้อสินค้าด้วยเงินสดโจทก์ก็หามีอำนาจควบคุมไม่ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่ติดต่อค้าขายกับบุคคลภายนอกจึงต้องถือว่าโจทก์ขายอาหารสัตว์เป็นปกติธุระแก่บุคคลทั่วไป โจทก์จึงเป็นพ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) และต้องใช้อายุความ 2 ปีในการใช้สิทธิเรียกร้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ขอซื้อเชื่ออาหารสัตว์จากโจทก์โดยมีจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์โดยไม่จำกัด จำเลยที่ ๑ได้ซื้ออาหารสัตว์จากโจทก์ไปหลายครั้งรวมเป็นเงิน ๒๑๗,๑๘๒ บาท และชำระเงินให้แล้ว ๑๑๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่ยังค้างอยู่โจทก์ได้ทวงถามหลายครั้งแต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ชำระแทน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ ดอกเบี้ยโจทก์คิดไม่ถูกต้อง ฟ้องเคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องคดีเกินเวลา ๒ ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๕(๑) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่พ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษากลับให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินตามฟ้องและดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ชำระแทน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะไม่ปรากฏวัตถุประสงค์และข้อบังคับของการจัดตั้งสหกรณ์โจทก์ก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๔ ซึ่งบัญญัติมิให้สหกรณ์เป็นคณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และตามมาตรา ๒๑(๙) ก็ให้อำนาจสหกรณ์ที่จะดำเนินธุรกิจการค้าเพื่อประโยชน์ของสมาชิกได้ การที่โจทก์จัดหาอาหารสัตว์มาจำหน่ายและได้ให้จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกซื้อเชื่อไป แม้โจทก์จะมีระเบียบการให้สินเชื่อแก่สมาชิก แต่ระเบียบนี้ก็เพียงกำหนดวงเงินที่จะให้สินเชื่อ และกำหนดวิธีการที่จะควบคุมมิให้ผู้ที่ได้รับสินเชื่อจำหน่ายทรัพย์สินของตนเท่านั้น ซึ่งถ้าสมาชิกหรือบุคคลภายนอกมาขอซื้อด้วยเงินสด โจทก์ก็หามีอำนาจควบคุมไม่ และไม่ปรากฏจากคำฟ้องหรือการนำสืบของโจทก์ว่าโจทก์ไม่ติดต่อค้าขายกับบุคคลภายนอก จึงต้องถือว่าโจทก์ขายอาหารสัตว์เป็นปกติธุระแก่บุคคลทั่วไป ไม่ต่างกับห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ประกอบกิจการค้าเพื่อประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น โจทก์จึงเป็นพ่อค้าตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) ต้องใช้อายุความ ๒ ปีในการใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด ๒ ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์