คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3428/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินที่ถูกล้อมมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่ต้องข้ามคูน้ำกว้างประมาณ 4-5 เมตร มิใช่สระหรือบึงกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1349 วรรคสอง เจ้าของที่ดินดังกล่าวจึงฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2720 และ 19069 ซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ในการเดินทางออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะต้องผ่านที่ดินโฉนดที่ 541 ของจำเลยซึ่งเป็นถนนอยู่แล้วเพื่อไปออกสู่ถนนสาธารณะ ขอให้บังคับให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 541 ของจำเลยตกเป็นทางจำเป็นของที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลง ห้ามจำเลยและบริวารขัดขวางการใช้ทางจำเป็นของโจทก์และบริวาร

จำเลยให้การที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือติดถนนซึ่งติดกับซอยอุดมเดชใช้เป็นทางเข้าออกได้สะดวก ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 541 ของจำเลยจากโจทก์จำเป็นต้องใช้ถนนของจำเลย โจทก์ต้องใช้ค่าทดแทน ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 541 ตกเป็นทางจำเป็นของที่ดินโฉนดเลขที่ 2720 ตามแนวที่กำหนดไว้ในแผนที่พิพาท ทั้งนี้โดยให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยในอัตรา ไร่ละ 3,500 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนในอัตราไร่ละ 5,000 บาท ต่อจำนวนเนื้อที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 2720 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

โจทก์, จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นออกไปเดินเผชิญสืบจำเลยได้ชี้ให้โจทก์ออกทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งมีที่ดินของนางจำปี เหมือนเดช คั่นอยู่ โจทก์แถลงว่าสุดถนนที่นางจำปีทำขึ้นจะติดต่อกับซอยอุดมเดชมีคูน้ำคั่นอยู่ ซึ่งศาลชั้นต้นได้ตรวจดูแล้วปรากฏว่าคูดังกล่าวกว้างประมาณ 4-5 เมตร มีสะพานไม้กว้างประมาณ1 เมตรสำหรับคนเดินข้ามและที่ดินของนางจำปีมีอาณาเขตติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2720 เมื่อจำเลยนำชี้ว่าที่ดินตามรูปเส้นสีน้ำเงิน เป็นถนน และเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยก็กล่าวว่าหากโจทก์ใช้เส้นทางดังกล่าวนี้เป็นเส้นทางผ่านไปสู่ทางสาธารณะแล้วย่อมจะไม่สะดวกอย่างเห็นได้ชัดแจ้ง ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่ามีเส้นทางติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2720 ของโจทก์ทางด้านที่จำเลยนำชี้ดังกล่าวข้างต้น แต่การที่โจทก์จะไม่ใช้เส้นทางดังกล่าวกรณีจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติบังคับไว้ว่า “ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสุดถนนของนางจำปีเป็นคูกว้างประมาณ 4-5 เมตร มิใช่สระหรือบึง กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสองบัญญัติไว้ รูปคดีจึงไม่มีทางบังคับให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 541 ได้

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share