แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ตกลงเช่าห้องอาหารของจำเลยเป็นเวลา 1 ปี แบ่งชำระค่าเช่าเป็น 4 งวด โจทก์ได้ชำระค่าเช่างวดแรกให้จำเลยครบถ้วนแล้วคู่กรณีโต้เถียงกันว่า เหตุที่ไม่อาจทำสัญญาเป็นหนังสือกันได้เพราะอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติผิดข้อตกลง ดังนี้ ฟังได้ว่าโจทก์จำเลยได้มีนิติสัมพันธ์กันแล้วตามข้อตกลงในเรื่องการเช่าแต่เหตุที่ยังไม่อาจทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรได้เพราะยังคงโต้เถียงกันจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยต่อไปหาใช่กรณีเป็นที่สงสัยอันจะเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่ให้ถือว่าโจทก์จำเลยยังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสองไม่ทั้งเงินที่จำเลยรับไว้จากโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นลาภมิควรได้ เพราะจำเลยรับไว้เป็นค่าเช่างวดแรกตามข้อตกลงจึงไม่ใช่รับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้การที่ศาลล่างด่วนตัดพยานทั้งที่คู่กรณียังมีข้อเท็จจริงที่โต้เถียงกันอยู่เช่นนี้เป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2527 จำเลยได้ตกลงให้โจทก์เข้าดำเนินกิจการห้องอาหารของจำเลย ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527 โดยให้สิทธิโจทก์ปรับปรุงตกแต่งสถานที่ตลอดจนใช้อุปกรณ์ด้วยชามต่าง ๆ ของจำเลยได้และจำเลยขอค่าตอบแทนเป็นเงิน 2,000 บาท เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยยินดีให้โจทก์เช่าดำเนินกิจการต่อไปมีกำหนด 1 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 9,000 บาท โดยจะได้ตกลงในรายละเอียดและทำหนังสือสัญญาเช่าต่อกันในเดือนมีนาคม 2527 โจทก์ได้จ่ายเงินค่าตอบแทน 2,000 บาท ให้แก่จำเลยและเข้าทดลองดำเนินกิจการในห้องอาหารแล้วต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันะ์ 2527 โจทก์ได้จ่ายเงินค่าเช่าล่วงหน้าประจำเดือนมีนาคมเมษายน และพฤษภาคม 2527 เป็นเงิน 27,000 บาท ให้แก่จำเลยไปและในวันที่1 มีนาคม 2527 จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาเช่ามาให้โจทก์ลงชื่อ แต่ปรากฏเงื่อนไขในสัญญาผิดไปจากที่โจทก์และจำเลยเคยตกลงกันมาก่อน โจทก์จึงไม่ยอมลงชื่อและมอบอาคารร้านอาหารคืนให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2527 การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าจำนวน 27,000 บาทกับค่าเสียหายจำนวน 17,657 บาทแก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ
จำเลยให้การรับว่า ได้ตกลงให้โจทก์เช่าห้องอาหารของจำเลยจริงมีกำหนด 1 ปีค่าเช่าเดือนละ 9,000 บาท แบ่งชำระค่าเช่าเป็น 4 งวด งวดละ 3 เดือน กำหนดชำระค่าเช่าล่วงหน้าทุกงวด โจทก์จำเลยได้ตกลงกันว่าเมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าล่วงหน้างวดแรก27,000 บาทแล้ว จึงจะทำหนังสือสัญญาเช่าต่อกัน โจทก์ชำระค่าเช่าล่วงหน้างวดแรกให้จำเลยแล้ว แต่ไม่ยอมลงชื่อในหนังสือสัญญาเช่าและเลิกกิจการไปเองเพราะโจทก์ไม่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินกิจการห้องอาหารจำเลยจึงไม่ ต้องคืนเงินค่าเช่าล่วงหน้าหรือรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานและพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 27,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำฟ้องและคำให้การว่าโจทก์ได้ตกลงเช่าห้องอาหารของจำเลยเป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2527 เป็นต้นไปโดยจำเลยคิดค่าเช่าเดือนละ 9,000 บาท แบ่งชำระค่าเช่าเป็น 4 งวดงวดละ 3 เดือนโดยโจทก์ต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าในแต่ละงวด สำหรับค่าเช่างวดแรกจำนวน 27,000 บาท โจทก์ได้ชำระให้จำเลยครบถ้วนแล้ว คู่กรณีคงโต้เถียงกันว่าเหตุที่ไม่อาจทำสัญญาเป็นหนังสือกันได้เพราะอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติผิดข้อตกลง ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์จำเลยได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกันแล้วตามข้อตกลงในเรื่องการเช่า แต่เหตุที่ยังไม่อาจทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรต่อกันได้เพราะต่างยังคงโต้เถียงและกล่าวหากันอยู่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติผิดข้อตกลง จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยต่อไป หาใช่กรณีเป็นที่สงสัย อันจะเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่ให้ถือว่าโจทก์จำเลยยังมิได้มีสัญญาต่อกัน จนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือไม่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยจึงมิใช่เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 366 วรรคสอง ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยและยกขึ้นปรับแก่คดี ทั้งเงินที่จำเลยรับไว้จากโจทก์จำนวน 27,000 บาทก็ถือไม่ได้ว่าเป็นลาพมิควรได้ เพราะจำเลยรับไว้เป็นค่าเช่างวดแรกตามข้อตกลง จะว่าปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายอย่างไรได้ การที่ศาลชั้นต้นด่วนตัดพยานและวินิจฉัยให้โจทก์ชนะคดีและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนทั้งที่คู่กรณียังมีประเด็นข้อเท็จจริงที่โต้เถียงกันอยู่เช่นนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาสืบพยานและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี