คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น จำเลยจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653เมื่อได้ความว่าจำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งที่มีใจความว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เงินยืมคืนแล้วโดยโจทก์ผู้ให้ยืมลงลายมือชื่อมาแสดง และหนังสือกู้ยืมก็ยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์โดยไม่ได้แทงเพิกถอนว่าได้รับชำระเงินยืมคืนแล้ว จำเลยก็ไม่อาจนำสืบถึงการใช้เงินได้ ใช้เงินกู้ยืมคืนโดยชำระแก่ตัวแทนของผู้ให้ยืม แต่การตั้งตัวแทนดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงชื่อตั้งการเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรคสองดังนี้ แม้ตัวแทนจะออกหลักฐานการรับเงินให้ผู้ยืมไว้ ก็ไม่ผูกพันผู้ให้ยืม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2527 จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ 10,000 บาท ตกลงคิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย กำหนดชำระต้นเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยในวันที่ 1 มกราคม 2528 จำเลยรับเงินจากโจทก์ไปเรียบร้อยแล้ว ครบกำหนดสัญญาจำเลยผิดนัดไม่ชำระต้นเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยก็เพิกเฉยจึงขอบังคับให้จำเลยชำระต้นเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกู้ยืมจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,750 บาท แก่โจทก์ และให้เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 10,000 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินตามฟ้องโจทก์จริงและได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตลอดมา ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2528จำเลยได้นำต้นเงินกู้ยืม 10,000 บาท ชำระคืนให้โจทก์โดยผ่านนางวาสนา ชื่นตา ญาติของโจทก์ ซึ่งนางวาสนาก็ได้ออกหลักฐานการรับเงินให้จำเลยไว้เป็นหลักฐาน ที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระต้นเงิน 10,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยมีว่า การนำสืบของจำเลยกรณีใช้เงินกู้ยืมคืนให้โจทก์เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรค 2 หรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไป 10,000 บาทโดยเขียนสัญญากู้ไว้ให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ได้มอบหมายให้นางวาสนา ชื่นตา รับเงินคืนจากจำเลยแทนโจทก์โดยไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ และจำเลยได้มอบเงินจำนวน 10,000ให้แก่นางวาสนาเพื่อชำระให้โจทก์ นางวาสนาได้ออกใบรับเงินให้จำเลยไว้ตามเอกสารหมาย ล.1 เห็นว่า การกู้ยืมเงินรายนี้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมเป็นสำคัญ ดังนั้นจำเลยจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 เมื่อได้ความว่าจำเลยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งที่มีใจความว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เงินยืมคืนแล้วโดยโจทก์ผู้ให้ยืมลงลายมือชื่อมาแสดง และหนังสือกู้ยืมก็ยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์โดยไม่ได้แทงเพิกถอนว่าได้รับชำระเงินยืมคืนแล้ว จำเลยก็ไม่อาจสืบถึงการใช้เงินได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่ว่านางวาสนาตัวแทนโจทก์ได้ออกใบรับเงินที่จำเลยใช้หนี้เงินยืมคืนให้โจทก์มาแสดงนั้น ก็ต้องพิจารณาไปตามขั้นตอนว่านางวาสนาเป็นตัวแทนโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรค 2บัญญัติว่า “กิจการใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือการตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย”ดังได้วินิจฉัยมาแล้วว่าการนำสืบการใช้เงินในกรณีมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ดังนั้น การตั้งตัวแทนให้รับเงินกู้ยืมแทนในกรณีนี้ก็จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตัวการเป็นสำคัญ เมื่อนางวาสนาไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ตัวการมาแสดงว่าเป็นตัวแทนของโจทก์แล้ว ก็ไม่อาจอ้างได้ว่านางวาสนาเป็นตัวแทนรับเงินยืมแทนโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้แม้นางวาสนาจะออกหลักฐานใบรับเงินให้จำเลยไว้เป็นหลักฐานก็ไม่ผูกพันโจทก์”
พิพากษายืน

Share