คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2338/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถใน คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่ศาลมีคำพิพากษา จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ชอบแล้ว ไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถได้อีก ให้ยกคำร้อง ดังนี้เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม ป.อ. มาตรา ๘๓, ๘๖, ๑๕๗, ๑๖๒ (๑), (๔) จำเลยทั้งสี่ ให้การปฏิเสธ โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แต่งตั้งนายกิตติชัย เป็นทนายความ ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ แต่งตั้งนายศราวุธ เป็นทนายความ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดโดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ฟังเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๖ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ขยายระเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งแรก โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อท้ายคำร้องและมีนายกิตติชัย ทนายความของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ลงลายมือชื่อเป็น ผู้เรียงเขียน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมา เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๖ จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ขยายระยะเวลา ยื่นอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง โดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ลงลายมือชื่อท้ายคำร้อง คงมีแต่นายกิตติชัย ทนายความของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ลงลายมือชื่อเพียงผู้เดียว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์จนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๖ ตามที่ร้องขอ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นมาในอุทธรณ์ฉบับเดียวกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ได้แต่งตั้งนายกิตติชัยเป็นทนายความ ให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ แต่งตั้งทนายความให้เสร็จภายใน ๕ วัน มิฉะนั้นจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ และรอสั่งอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ เมื่อจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ดำเนินการหรือไม่ดำเนินการภายในกำหนด ต่อมาวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๖ เจ้าหน้าที่ศาล รายงานว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่แต่งตั้งทนายความในเวลาที่ศาลกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ว่า จำเลยที่ ๒ ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดจึงรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่แต่งตั้งนายกิตติชัย เป็นทนายความ เข้ามาภายในกำหนดเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถตามคำสั่งศาล ดังนั้นการที่นายกิตติชัยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ และศาลมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นคำสั่งโดยผิดหลง ให้มีคำสั่งใหม่เพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๖ เฉพาะส่วนของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ยื่นอุทธรณ์ เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่ศาลมีคำพิพากษา จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔
เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ แต่งตั้งนายกิตติชัย เป็นทนายความและยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นให้โอกาสจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถแล้ว แต่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ จึงไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถได้อีก ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ และศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ยกคำร้อง ดังนี้ เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น คำสั่งดังกล่าว เป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๘ ทวิ วรรคสาม จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ .

Share