คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 71,852 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันที่ถูกชนเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์กับค่าที่รถยนต์เสื่อมราคาและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 40,378 บาท และโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยเรียกร้องเงินที่ได้ชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมรถและค่าลากจูงรถยนต์ที่ถูกชนไปทำการซ่อมและดอกเบี้ยเป็นเงิน 31,474 บาทเป็นการฟ้องเรียกหนี้ที่อาจแบ่งแยกกันชำระได้ จึงไม่ใช้หนี้ร่วมค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนฟ้องเรียกต้องแยกออกจากกัน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 2ง – 3834 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์ดังกล่าว มีอายุสัญญา 1 ปี นับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2529 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2530 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา จำเลยที่ 1ลูกจ้างได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5ม – 7360 กรุงเทพมหานคร ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างไปตามถนนกำแพงเพชรด้วยความประมาทพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 6ง – 5482กรุงเทพมหานคร ซึ่งจอดอยู่ริมถนนกำแพงเพชร เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่ถูกชนพุ่งไปชนท้ายรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9ข – 3138กรุงเทพมหานคร ซึ่งจอดอยู่ในแนวเดียวกัน ทำให้รถยนต์ที่ถูกชนคันที่สองพุ่งไปชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวกระเด็นขึ้นบนทางเดินเท้าไปชนร้านค้าแผงลอยข้างถนนกำแพงเพชร ได้รับความเสียหายโจทก์ที่ 1 ได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์คันดังกล่าวคิดเป็นเงิน 30,400บาท จำเลยต้องชดใช้จำนวนเงินดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 1,074 บาท โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถใช้รถยนต์ดังกล่าวในระหว่างซ่อมรวม 30 วัน ต้องว่าจ้างรถยนต์สาธารณะวันละ 300 บาทเป็นค่าเสียหายส่วนนี้ 9,000 บาท และรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เสื่อมสภาพและราคาไปเป็นเงิน 30,000 บาท จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 39,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 1,378บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 31,474 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน30,400 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และจำนวนเงิน 40,378 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 39,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้าง กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ อีกทั้งโจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวจำเลยที่ 1 มิได้ประมาท แต่เป็นเพราะรถยนต์ทั้งสามคันดังกล่าวจอดอยู่กลางถนนในที่มืดไม่เปิดสัญญาณไฟทำให้จำเลยที่ 1 เห็นในระยะกระชั้นชิดไม่อาจหลบหลีกได้ทัน จึงเกิดการชนกันดังกล่าว ค่าซ่อมรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2ง – 3834 กรุงเทพมหานคร ไม่เกิน 5,000บาท และใช้เวลาซ่อมไม่เกิน 5 วัน โจทก์ที่ 2 ว่าจ้างรถยนต์สาธารณะไม่เกินวันละ 100 บาท สำหรับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เมื่อซ่อมเสร็จแล้วมีสภาพคงเดิมไม่เสื่อมราคาแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน29,665 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 เสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 15,391.02 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 15,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์ที่ 2 เสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 71,852 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันที่ถูกชนเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์กับค่าที่รถยนต์เสื่อมราคาและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 40,378บาท และโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยเรียกร้องเงินที่ได้ชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมรถและค่าลากจูงรถยนต์ที่ถูกชนไปทำการซ่อมและดอกเบี้ยเป็นเงิน 31,474 บาท เป็นการฟ้องเรียกหนี้ที่อาจแบ่งแยกกันชำระได้ จึงไม่ใช่หนี้ร่วม ค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนฟ้องเรียกต้องแยกออกจากกันจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาทเมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฎีกา การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 มิได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปราชการจำเลยที่ 1 ขับไปเองโดยพลการ จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับมาศาลฎีกาก็ไม่วินิจฉัยให้”
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2.

Share