คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้ววินิจฉัยชี้ขาดโดยอ้าง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 เป็นหลักว่าจำเลยกระทำการโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แสดงว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24,228(3) โดยไม่ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อกระแสไฟฟ้าและจำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกัน โดยเรียกค่าไฟฟ้าเพิ่มเนื่องจากมีการต่อสายไฟเข้าเครื่องวัดหน่วยกระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ผิดพลาด ทำให้เครื่องวัดหน่วยกระแสไฟฟ้าหมุนน้อยไปกว่าความเป็นจริงร้อยละ39.24 และโจทก์เรียกเก็บค่าไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริงในช่วงระยะเวลา 22 เดือน
จำเลยทั้งสองให้การว่า การต่อสายไฟผิดเป็นความบกพร่องของโจทก์หรือพนักงานของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความบางประการแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยานต่อไป ให้งดสืบพยานคู่ความแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้คำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยจะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจริงดังจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาก็ตามแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ในปัญหานั้น แต่โจทก์อุทธรณ์ในเรื่องที่ว่าข้อชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายคำสั่งชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายของศาลชั้นต้นนี้ แม้จะฟังว่าศาลชั้นต้นอาศัยข้อเท็จจริงจากคำรับของคู่ความที่ปรากฎตามคำฟ้องดังจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่ผลของคำชี้ขาดของศาลชั้นต้นก็คือข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยที่ 1ใช้สิทธิโดยสุจริต โดยศาลชั้นต้นอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 เป็นหลักในการวินิจฉัย ข้อนี้เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะได้สอบคู่ความ และคู่ความแพลงว่าข้อเท็จจริงที่ว่าการติดตั้งสายไฟฟ้าเข้ากับมิเตอร์เพื่อวัดกำลังไฟฟ้าซึ่งจำเลยที่ 1ใช้อยู่นั้นเป็นเพราะความผิดพลาดของคนงานของโจทก์เองนั้นยอมรับได้ เพราะโจทก์ได้ฟ้องโดยบรรยายฟ้องตรงตามข้อที่ศาลชั้นต้นสอบอยู่แล้ว และศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการโดยไม่สุจริต จึงถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1รวมทั้งจำเลยที่ 2 แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ย่อมแสดงว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายแล้วว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามฟ้อง คำสั่งของศาลที่ชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายของศาลชั้นต้นในประการหลัง เป็นคำสั่งชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของศาลชั้นต้นซึ่งวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายจำเลย ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีต่อไปอีก โจทก์ไม่จำต้องโต้แย้งคำสั่งโจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24, 228(3) ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัยได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2308/2520 ระหว่าง นายเชียร ทองไหลรวมโจทก์นายเทียม แซ่ล้อ จำเลย และที่ 3502/2524 ระหว่างนายเต็กบิว แซ่กัว โจทก์ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำเลยที่จำเลยที่ 2 อ้างมาในฎีกานั้นเป็นเรื่องศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้”
พิพากษายืน

Share