คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3423/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระ ให้โจทก์รวม 14,000,000 บาทเศษ สวนผลไม้ที่โจทก์นำยึดสามารถให้ผลผลิตและรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า4,500,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่าสามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปีนั้น เป็นเพียงการคาดคะเนว่าจะมีรายได้จากผลผลิตการเกษตร ซึ่งยังไม่แน่นอน อีกทั้งกว่าจะชำระให้โจทก์ เสร็จสิ้นก็เป็นเวลาประมาณ 5 ปี และโจทก์ ก็มิได้ให้ความยินยอม ถือไม่ได้ว่ารายได้ ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อาจเพียงพอที่จะชำระหนี้ ตามคำพิพากษา กรณีจึงไม่ต้องด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307ที่จะตั้งผู้จัดการทรัพย์และนำรายได้ประจำปี จากทรัพย์ดังกล่าวชำระหนี้แทนการขายทอดตลาดทรัพย์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งหกชำระหนี้ตามมูลหนี้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ค้ำประกันและจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยทั้งหกไม่ชำระจึงถูกบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ออกขายทอดตลาด
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดมีสภาพเป็นสวนผลไม้และมีต้นไม้ปลูกอยู่นับพันต้นในแต่ละปีให้ผลผลิตและรายได้จากการจำหน่ายไม่ต่ำกว่าปีละ 4,500,000 บาท หากมีรายได้นี้มาชำระหนี้แทนการขายทอดตลาดจำเลยสามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี จึงขอให้ศาลนำรายได้ประจำปีจากทรัพย์ดังกล่าวชำระหนี้แทนการขายทอดตลาดโดยตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทรัพย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีรายได้ประจำปีจากผลไม้บนที่ดินที่โจทก์นำยึดปีละ 4,500,000 บาท ขอให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำร้อง ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ปรากฏตามคำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระให้โจทก์รวม 14,000,000 บาทเศษ สวนผลไม้ที่โจทก์นำยึดสามารถให้ผลผลิตและรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 4,500,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี เห็นว่ารายได้จากผลผลิตการเกษตรที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเพียงการคาดคะเนไม่แน่นอน อีกทั้งกว่าจะชำระให้โจทก์ไม่แน่นอน อีกทั้งกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้นก็เป็นเวลาประมาณ 5 ปี และโจทก์ก็มิได้ให้ความยินยอม ถือไม่ได้ว่ารายได้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อาจเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษา กรณีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share