คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3418/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญากู้เงินได้ทำไว้ 2 ฉบับ โดยขณะทำสัญญาได้ใช้กระดาษก๊อปปี้คั่นกลาง ต้นฉบับอยู่ที่จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ ส่วนฉบับสำเนาอยู่ที่โจทก์ ดังนี้ สำเนาสัญญาไม่ใช่เอกสารปลอม เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยและนำสืบพยานหลักฐานแสดงให้เห็นแล้วว่าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้ จึงรับฟังสำเนาสัญญากู้ดังกล่าวได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 93(2) เท่ากับโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ จึงฟ้องร้องบังคับคดีจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินและรับเงินจากโจทก์ ขอให้จำเลยชำระเงินต้น 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันกู้ถึงวันฟ้อง 3,000 บาท รวม 33,000 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์ โจทก์ปลอมลายมือชื่อจำเลยในสัญญากู้เงินแล้วนำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินต้น 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันกู้จนถึงวันฟ้อง(แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 3,000 บาท)
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.3 ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอมและจะใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่ โจทก์นำสืบว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 30,000 บาท แล้วทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3ให้ไว้เป็นหลักฐาน ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า จำเลยมีอาชีพออกเงินให้กู้โจทก์ได้ฝากเงินให้จำเลยนำไปให้ผู้อื่นกู้แบ่งดอกเบี้ยกันคนละครึ่งสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 โจทก์ทำขึ้นเอง เป็นเอกสารปลอม และจำเลยอ้างนางสุไรรัตน์ ไกรคุ้ม นางเทวิน วงศ์จันทร์ และนางสมทรงศรีสวัสดิ์ เป็นพยาน ทั้งสามคนเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ในการนำเงินมาให้กู้ ตามคำพยานจำเลยดังกล่าวปรากฏว่าพยานทั้งสามรู้จักโจทก์มานาน 5-6 ปี เท่ากับรู้จักจำเลยดังนี้หากพยานทั้งสามต้องการกู้ยืมเงินและโจทก์มีอาชีพให้กู้เงินโดยทั่วไปแล้ว จำเลยทั้งสามก็น่าจะไปติดต่อกู้เงินจากโจทก์โดยตรงไม่น่าจะต้องกู้ยืมเงินโดยผ่านจำเลยตามที่จำเลยต่อสู้ จำเลยนำสืบรับว่าได้รับเงินมาจากโจทก์ 30,000 บาท และตามฎีกาจำเลยก็รับว่าจำเลยเป็นผู้เขียนสัญญากู้ตามฟ้องนั้น เพียงแต่ไม่ได้ลงชื่อผู้กู้ ศาลฎีกาพิเคราะห์ลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3ซึ่งแม้จะเป็นรอยก๊อปปี้ก็ตาม ลายมือชื่อดังกล่าวมีลวดลายการเขียนเหมือนลายมือชื่อจำเลยซึ่งลงไว้ในใบตอบรับเอกสารหมาย จ.1พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และได้ทำสัญญากู้ไว้จริงตามฟ้อง สัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ไม่ใช่เอกสารปลอม ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า สัญญากู้เอกสารหมาย จ.3ซึ่งเป็นฉบับสำเนาใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่เห็นว่าโจทก์นำสืบแล้วว่า จำเลยได้ทำสัญญา 2 ฉบับ สัญญาทำไว้โดยใช้กระดาษก๊อปปี้คั่นกลางต้นฉบับอยู่ที่จำเลย ส่วนฉบับสำเนาตามเอกสารหมาย จ.3อยู่ที่โจทก์ซึ่งกรณีเป็นไปได้ตามที่โจทก์นำสืบ ดังนี้ถือว่าโจทก์ได้นำสืบพยานหลักฐานแสดงให้เห็นแล้วว่า ต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้ จึงรับฟังสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นฉบับสำเนาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) เท่ากับโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือฟ้องร้องบังคับคดีจำเลยได้ตามกฎหมาย”
พิพากษายืน.

Share