คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นาย ป.สามีแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม นาง ส.ภรรยาของนาย ป.ไม่ได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด บันทึกต่อท้ายทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเป็นเพียงหลักฐานที่นายทะเบียนได้ทำขึ้นเพื่อแสดงว่า นาง ส.ได้ยินยอมให้นาย ป.จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเท่านั้น แม้บันทึกดังกล่าวมีข้อความว่า นาง ส.ได้รับเป็นมารดาของผู้ร้องด้วย ก็ไม่มีผลเป็นการรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย เพราะการรับบุตรบุญธรรมจะมีผลตามกฎหมายเมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อนาง ส.ไม่ได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ร้องจึงไม่ใช่บุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนาง ส. และไม่ใช่ทายาทของนาง ส.

ย่อยาว

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านและนางสำราญ จาดฤทธิ์ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน บิดามารดาถึงแก่กรรมไปแล้ว ผู้คัดค้านและภริยาได้ยกผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของตนให้เป็นบุตรบุญธรรมของนายโป๊ะ จาดฤทธิ์ สามีของนางสำราญแต่เพียงผู้เดียว ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของนางสำราญทั้งหมด ส่วนผู้ร้องไม่มีสิทธิรับมรดกของนางสำราญ ขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายโป๊ะและนางสำราญ และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองแทน
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกทั้งสอง ผู้ร้องจึงเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว ขอให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่เป็นบุตรบุญธรรมของนางสำราญ จาดฤทธิ์ ผู้ตายจึงถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสำราญ แต่งตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทนคงให้ผู้ร้องเป็นจัดการมรดกของนายโป๊ะ จาดฤทธิ์ ต่อไป
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าตามทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเอกสารหมายร.ค.๑ ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการนั้น คงมีชื่อนายโป๊ะ จาดฤทธิ์ แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรม บันทึกต่อท้ายทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวก็ยังระบุอีกว่านายโป๊ะ จาดฤทธิ์ ได้มายื่นคำร้องขอรับนางสาวสมปอง ภาคีเนตร เป็นบุตรบุญธรรมต่อนายทะเบียน เอกสารทั้งสองฉบับไม่ปรากฏว่านางสำราญภรรยาของนายโป๊ะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย ตามบันทึกต่อท้ายทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมคงระบุว่า นางสำราญคู่สมรสของนายโป๊ะได้มาให้ความยินยอมและนางสำราญก็ได้ลงชื่อในท้ายบันทึกเป็นคู่สมรสผู้รับบุตรบุญธรรมจึงรับฟังได้ว่านายโป๊ะแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม นางสำราญไม่ได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด บันทึกต่อท้ายทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมเป็นเพียงหลักฐานที่นายทะเบียนได้ทำขึ้นเพื่อแสดงว่า นางสำราญซึ่งเป็นภรรยาของนายโป๊ะได้ยินยอมให้นายโป๊ะจดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเท่านั้น แม้บันทึกดังกล่าวได้มีข้อความว่า นางสำราญได้รับเป็นมารดาของผู้ร้องด้วย ก็ไม่มีผลเป็นการรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย เพราะการรับบุตรบุญธรรมจะมีผลตามกฎหมายเมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อนางสำราญไม่ได้จดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรรม ผู้ร้องจึงไม่ใช่บุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสำราญและไม่ใช่ทายาทของนางสำราญ ผู้ร้องต้องถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสำราญตามคำท้า
พิพากษายืน.

Share