คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยปลุกผู้ตายตื่นขึ้นเพื่อให้ไปส่งจำเลย ผู้ตายไม่ยอมไปจึงมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง ผู้ตายชกต่อย และเตะ จำเลย จำเลยจึงหยิบอาวุธปืนมายิงผู้ตาย พฤติการณ์ที่ผู้ตายชกต่อยและเตะ จำเลยถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยหยิบอาวุธปืนมายิงผู้ตายในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำไปโดยบันดาลโทสะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 6 กับให้ริบปลอกกระสุนปืนและหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 15 ปี ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่น จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 15 ปี 6 เดือน ชั้นสอบสวนจเลยให้การรับสารภาพและนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกมีกำหนด 10 ปี 4 เดือน ริบปลอกกระสุนปืนและหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 72 ให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี รวมกับโทษฐานมีอาวุธปืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีก 4 เดือน เป็นจำคุกทั้งสิ้น 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยได้ใช้อาวุธปืนสั้น ขนาด .38 ซึ่งเป็นอาวุธปืนมีทะเบียนของนายสันติ นาคงาม ยิงร้อยเอกชมพู่ ศรีคต ผู้ตาย สามีจำเลยซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันถึงแก่ความตายบาดแผลปรากฏตามรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายไปโดยบันดาลโทสะหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็น ส่วนจำเลยนั้น เบิกความยืนยันว่า จำเลยปลุกผู้ตายตื่นขึ้น แล้วขอให้ผู้ตายไปส่งจำเลยที่ประตูค่ายทหาร ผู้ตายไม่ยอมไป จำเลยกับผู้ตายจึงมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง ผู้ตายได้ตบตีจำเลย จำเลยจะวิ่งหนี แต่ผู้ตายก็ดึงจำเลยไว้พร้อมกับตบและเตะจำเลย จำเลยโมโหสุดขีดจึงคว้าอาวุธปืนที่วางอยู่ในห้องยิงผู้ตายพิเคราะห์คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวแล้วเห็นว่า ในชั้นสอบสวน จำเลยก็ให้การในวันเกิดเหตุว่า ผู้ตายชกต่อยและเตะจำเลย จำเลยจึงไปหยิบอาวุธปืนมายิงผู้ตาย ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.3 ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า ผู้ตายชกต่อยและเตะจำเลย จำเลยจึงไปหยิบอาวุธปืนมายิงผู้ตาย พฤติการณ์ที่ผู้ตายชกต่อยและเตะจำเลย ถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยไปหยิบอาวุธปืนมายิงผู้ตายในขณะนั้น จึงเป็นการกระทำไปโดยบันดาลโทสะ…”
พิพากษายืน.

Share