คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3415/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ได้มีการส่งต้นฉบับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินไปยังบ้านหรือภูมิสำเนาของโจทก์แล้วโดยไม่มีการส่งเอกสารดังกล่าวไปยังบ้านบุคคลอื่น และกรณีเป็นเพียงเขียนชื่อถนนผิดพลาดไปเท่านั้น ดังนี้ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2533 แล้ว โดยไม่จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำเนาใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 3 มาพิจารณาประกอบ ฉะนั้นที่โจทก์ที่ 1ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับการรับฟังเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 3 นั้นไม่อาจทำให้ข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาแล้วเปลี่ยนแปลงไปได้จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2533 จึงพ้น 60 วันซึ่งเป็นกำหนดเวลาการใช้สิทธิอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ โจทก์ที่ 2 เป็นเพียงผู้รับประโยชน์ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนอันเป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่งตามกฎหมายเท่านั้น หาใช่บุคคลผู้มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนกล่าวคือ มิใช่เจ้าของทรัพย์สินหรือผู้เช่าทรัพย์สิน หรือผู้เสียสิทธิในการใช้ทาง วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินในที่ต้องเวนคืน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 18 โจทก์ที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 16 วรรคสอง,29 โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าทดแทนโดยลำพังตนเองได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว และโจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 3 และไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3110 และ 3112 ที่ดินทั้งสองแปลงติดต่อเป็นผืนเดียวกันและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างหลายหลังให้เลขที่เดียวกันคือ เลขที่ 52 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3110 ตลอดจนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม้ยืนต้นที่ปลูกอยู่ในที่ดินทั้งสองแปลงโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3110 รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 52 และไม้ยืนต้น จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27พฤศจิกายน 2515 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2530 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนขั้นที่ 2สายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จำเลยที่ 3เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ที่ 1ทั้งสองแปลงดังกล่าวรวมเนื้อที่ 571 ตารางวา สิ่งปลูกสร้างเลขที่ 52และไม้ยืนต้นอยู่ในแนวเขตจะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา จำเลยที่ 2ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนได้กำหนดเงินค่าตอบแทนที่ดินให้ราคาตารางวาละ 30,000 บาท เป็นเงิน 17,130,000 บาท กำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินเป็นเงิน 1,145,970.11 บาท กำหนดเงินค่าทดแทนไม้ยืนต้นเป็นเงิน 3,450 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 18,279,420.11 บาท ตามภายถ่ายหนังสือของจำเลยที่ 2เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 แต่โจทก์ทั้งสองเห็นว่าจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินราคาตารางวาละ 30,000 บาท เป็นราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายในท้องตลาด โจทก์ทั้งสองได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ขอเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก 22,535,079.89 บาท แต่จำเลยที่ 3 ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองเห็นว่าการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองไม่เป็นธรรมและไม่ชอบตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ประกอบด้วยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติให้จำเลยที่ 1เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินจากเดิมอีก 109.33 เปอร์เซ็นต์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินโจทก์ที่ 1 ทั้งสองแปลงเพิ่มอีกตารางวาละ 32,799 บาท รวม 571 ตารางวา คิดเป็นเงิน18,728,229 บาท เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างในที่ดิน และไม้ยืนต้นเพิ่มอีกเป็นเงิน 2,780,079.89 บาท ค่าทดแทนสำหรับกลุ่มบ้านทรงไทยในที่ดินโฉนดเลขที่ 3110 เป็นเงิน 8,335,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสามจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสอง 29,843,308.89บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2531 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบังคับใช้ เป็นเงินค่าดอกเบี้ย 8,756,762.69 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสามจะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสอง 38,600,071.58 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทน 38,600,071.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 29,843,308.89 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 พ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ 5 มกราคม2533 ซึ่งเป็นวันที่ได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบรับกันและศาลชั้นต้นไปเผชิญสืบทรัพย์สินรายนี้ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2535 ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3110 และ 3112 เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน10 ตารางวา และ 3 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา ตามลำดับ ตั้งอยู่ตำบลลาดพร้าวฝั่งเหนือ อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3110ซึ่งที่ดินทั้งสองแปลงข้างต้นมีกลุ่มบ้านทรงไทยปลูกอยู่รวม 4 หลังต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ ซึ่งกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ปรากฏว่าที่ดินทั้งสองแปลงข้างต้นอยู่ในแนวเขตที่จะต้องถูกเวนคืนกล่าวคือ โฉนดเลขที่ 3110เนื้อที่ 372 ตารางวา โฉนดเลขที่ 3112 เนื้อที่ 199 ตารางวา รวมเนื้อที่ 571 ตารางวา และต้องรื้อถอนบ้านทรงไทย 2 ชั้น 1 หลังบ้านทรงไทยชั้นเดียวและเรือนครัว 1 หลัง หลังด้วยศาลาทรงไทยปลูกอยู่กลางสระน้ำ 2 หลัง สะพานไม้ รั้ว เขื่อนดิน และต้นไม้ อีกทั้งจะต้องรื้อถอนบันไดขึ้นลงด้านทิศตะวันตกและชายคาบางส่วนของบ้านทรงไทยอีกหลังหนึ่งคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางเมตร ซึ่งอยู่ในแนวเขตที่จะต้องถูกเวนคืนไปด้วย คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนตามที่จำเลยที่ 3 แต่งตั้งได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตารางวาละ 30,000 บาทคิดเป็นเงิน 17,130,000 บาท สิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 1,145,970.11 บาท และไม้ยืนต้นเป็นเงิน 3,450 บาท รวมเป็นเงิน 18,279,420.11 บาท โจทก์ทั้งสองไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนดังกล่าว จึงยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 โจทก์ขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินอีก 11,420,000 บาท เพิ่มเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างและไม้ยืนต้นอีก 2,780,079.89 บาท นอกจากนี้ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนเกี่ยวกับกลุ่มบ้านทรงไทยรวม 2 หลัง ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าวและมิได้อยู่ในแนวเขตที่จะต้องถูกเวนคืน แต่จากการเวนคืนเป็นเหตุให้สภาพบ้านหมดคุณค่าไม่อาจอยู่อาศัยโดยปกติสุขดังกาลก่อนได้โจทก์ทั้งสองจึงจำเป็นต้องรื้อถอนไปปลูกสร้างใหม่ในสภาพเช่นเดียวกันต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 8,335,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่ขอเพิ่มทั้งสิ้น 22,505,079.89 บาท อย่างไรก็ดี ในระหว่างพิจารณาคดีนี้โจทก์ที่ 1 ได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มจากเดิมตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2534 กล่าวคือ เงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีก18,728,800 บาท และค่าสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นอีก 187,251.52 บาทรวมเป็นเงิน 18,916,051.52 บาท ตามเอกสารหมาย จ.28 แต่โจทก์ทั้งสองยังไม่พอใจและขอให้ดำเนินคดีนี้ต่อไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1ยื่นอุทธรณ์เรื่องเงินค่าทดแทนคดีนี้ต่อจำเลยที่ 3 ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนซึ่งทำให้โจทก์ที่ 1มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1ไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินตามเอกสารหมาย จ.9 เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 3 ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาใบตอบรับในประเทศของการสื่อสารแห่งประเทศไทยระบุว่าได้มีการจัดส่งจดหมายไปบ้านเลขที่ 52 ถนนริมคลองสามเสน แขวงบางกะปิเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร แต่บ้านเลขที่ดังกล่าวไม่ใช่ภูมิลำเนาของโจทก์ที่ 1 ความจริงโจทก์ที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 52ถนนริมคลองแสนแสบ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครการที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงว่าเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 3ได้ระบุชื่อผู้รับเลขที่บ้าน แขวง เขต และรหัสไปรษณีย์เช่นเดียวกับใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 3 เพียงแต่ระบุถนนผิดพลาดเป็นริมคลองสามเสนเท่านั้น จึงเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ย่อมได้รับหนังสือจากเอกสารหมาย จ.9 ด้วยแล้ว โจทก์ทั้งสองเห็นว่าศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวขัดต่อหลักกฎหมาย กล่าวคือเอกสารหมาย ล.2 และ จ.9 ล้วนเป็นเพียงสำเนาเอกสาร จำเลยไม่ได้นำต้นฉบับเอกสารมาแสดงต่อศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายที่ไม่ต้องนำต้นฉบับเอกสารมาแสดง โจทก์ทั้งสองเพิ่งได้รับหนังสือแจ้งค่าทดแทนจากจำเลยตามหนังสือที่ มท 5503/2796 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2533 ตามเอกสารหมาย จ.8 เมื่อวันที่ 2 และวันที่ 6 สิงหาคม 2533 ตามที่ระบุในหนังสือขออุทธรณ์ค่าทดแทนเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เอกสารหมาย จ.15 โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533อยู่ภายในกำหนด 60 วัน จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสอง ข้อ 3 บรรยายไว้ว่าจำเลยที่ 2ได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งให้ทราบว่าที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถูกเขตทางพิเศษ และต้องถูกเวนคืน คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นคิดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ รวมเป็นเงินค่าทดแทน 18,279,420.11 บาท รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือของจำเลยที่ 2 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 นี้คือสำเนาหนังสือที่ มท 5506/คจท/สน/508ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2532 เรื่องขอเชิญให้ไปติดต่อรับเงินค่าทดแทนที่นายดิเรก ขำกนก ผู้จัดการงานนิติการและสัญญาในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มีถึงโจทก์ที่ 1ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 1 และสำเนาใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 3 ระบุว่าหนังสือที่นำไปส่งตามใบตอบรับดังกล่าวคือหนังสือรับเงินค่าทดแทน มท 5506/คจท/นส/518 ชื่อผู้รับคือโจทก์ที่ 1 รับเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2533 เวลา 14 นาฬิกาผู้รับแทนเกี่ยวพันกับผู้รับโดยเป็นญาติดังนี้ หนังสือที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำไปส่งตามสำเนาใบตอบรับในประเทศเอกสารหมายจ.9 แผ่นที่ 3 ก็คือ ต้นฉบับของเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 1 ซึ่งโจทก์ที่ 1 ยอมรับตามฟ้องของโจทก์เองว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ยังปรากฏอีกว่าบ้านเลขที่ 52 ถนนพระราม 9 หรือถนนริมคลองสามเสน ซึ่งเป็นบ้านของนายหยุด โพธิ์นิ่มแดง ได้เปลี่ยนเป็นบ้านเลขที่ 242 ตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งเป็นวันเวลาก่อนส่งเอกสารหมาย จ.9 ตามสำเนาทะเบียนบ้านท้ายคำแถลงการณ์ของโจทก์ที่ 1 ทั้งบ้านดังกล่าวก็มีแผ่นป้ายขนาดใหญ่ติดไว้ ซึ่งมีข้อความชัดว่าเป็นบ้านโพธิ์นิ่มแดง ตามภาพถ่ายท้ายคำแถลงการณ์ของโจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกัน ดังนั้น จากข้อเท็จจริงตามฟ้องกับพยานหลักฐานและพฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดว่าได้มีการส่งต้นฉบับของเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 1 ไปยังบ้านหรือภูมิลำเนาของโจทก์ที่ 1 แล้ว โดยไม่มีการส่งเอกสารดังกล่าวไปยังบ้านบุคคลอื่นกรณีเป็นเพียงเขียนชื่อถนนผิดพลาดไปเท่านั้น ส่วนเอกสารหมาย จ.9แผ่นที่ 3 แม้เป็นเพียงสำเนาแต่ก็เป็นเอกสารที่โจทก์ที่ 1เป็นฝ่ายอ้าง ย่อมใช้ยันโจทก์ที่ 1 ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนซึ่งเป็นต้นฉบับของเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2533 แล้วโดยไม่จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำเนาใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 3 มาพิจารณาประกอบ ฉะนั้นที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับการรับฟังเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 3 นั้น ไม่อาจทำให้ข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาแล้วเปลี่ยนแปลงไปได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อโต้แย้งดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 1ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ให้วันที่ 1 ตุลาคม 2533 จึงพ้น 60 วันซึ่งเป็นกำหนดเวลาการใช้สิทธิอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่งโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 2มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนอันเป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่งตามกฎหมาย หาใช่บุคคลผู้มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนกล่าวคือ มีใช่เจ้าของทรัพย์สินหรือผู้เช่าทรัพย์สินหรือผู้เสียสิทธิในการใช้ทาง วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินในที่ต้องเวนคืน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18โจทก์ที่ 2 เป็นเพียงผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับชดใช้จากเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนเท่านั้น ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 16 วรรคสอง มาตรา 29 ดังนั้นโจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าทดแทนโดยลำพังตนเองได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 และไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
พิพากษายืน

Share