คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3411/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล และจำเลยได้รับหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินตามกฎหมายแล้ว แต่จำเลยมิได้มาให้ไต่สวนและไม่นำบัญชี เอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นมาแสดงเพื่อตรวจสอบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 จึงต้องตามบทบัญญัติมาตรา 71 (1) เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า และกรณีเช่นนี้ไม่อาจนำ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502ซึ่งใช้บังคับสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาใช้บังคับโดยอนุโลมเพราะกฎหมายได้บัญญัติไว้แจ้งชัดโดยเฉพาะแล้ว
แม้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 71 วรรคสอง เจ้าพนักงานประเมินจะมีอำนาจเลือกประเมินภาษีตามมาตรา 24 จากฐานกำไรสุทธิแทนฐานรายรับก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา 71 (1) ก็ตาม แต่เมื่อการคำนวณภาษีจากฐานกำไรสุทธิไม่อาจหักรายจ่ายเป็นการเหมาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในการคำนวณกำไรสุทธิให้จำเลยจึงไม่ชอบ และมีผลทำให้กำไรสุทธิและภาษีที่คำนวณได้ไม่ชอบไปด้วย ดังนั้น การเลือกประเมินภาษีตามมาตรา 24 จากฐานกำไรสุทธิจึงไม่ชอบ
การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บจากกำไรสุทธิ ซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่าตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งป.รัษฎากร จึงเห็นได้ว่า หากสามารถพิสูจน์แสดงรายจ่ายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้มากเท่าใด แล้วนำไปหักออกจากรายได้มากเพียงใด ก็จะเสียภาษีน้อยลงเท่านั้น หรือถ้ารายได้น้อยกว่ารายจ่ายถือว่าขาดทุน ก็ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงอยู่ที่การพิสูจน์รายจ่ายตามกฎหมาย หาใช่การไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินทำให้เสียภาษีน้อยกว่าผู้ที่ปฏิบัติตามหมายเรียก

Share