คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 341/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกล่าวในฎีกาเพียงว่า “จำเลยขอให้การกลับคำให้การในชั้นสอบสวนและในชั้นศาลทุปกระการและทุกถ้อยกระทงความ โดยจำเลยขอให้การว่ามิได้กระทำความผิดตามคำกล่าวหาของพนักงานสอบสวนและคำฟ้องของโจทก์” โดยมิได้ระบุข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จำเลยประสงค์จะยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาแต่ประการใด ทั้งมิได้กล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไม่ถูกต้องในข้อใดอย่างไรฎีกาเช่นนี้ไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรค 2 ประกอบด้วยมาตรา 225 และมาตรา 216

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน กับมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ลูกระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่ในราชการสงคราม ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยกับพวกถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อตำรวจแสดงตัวเข้าจับกุมจำเลย จำเลยต่อสู้ขัดขวางโดยร่วมกันใช้อาวุธปืนและวัตถุระเบิดยิงต่อสู้ เป็นเหตุให้ว่าที่พันตำรวจเอกประสพกับพลตำรวจสมัครถึงแก่ความตาย ส่วนตำรวจอื่นหลบทันจึงไม่ตาย แต่สิบตำรวจโทอุทัย ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๙๖, ๒๘๙, ๒๘๙, ๘๐, ๘๓ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ และริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่ามีปืนพกสั้นกับกระสุนและอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย แต่ไม่ได้ยิงตำรวจ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่ามีปืนอาการ์กับกระสุนและลูกระเบิด ตอนแรกไม่ได้ยิงตำรวจแต่เมื่อตำรวจยิงเข้าไป นางสาวรัตน์ซึ่งเป็นหัวหน้าสายสั่งให้ยิง จึงยิง
จำเลยที่ ๓ ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด และไม่มีอาวุธใด ๆ แต่รับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๘๙, ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐, ๘๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๙ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม ของกลางทั้งหมดให้ริบ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เพราะยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นฎีกา คงสั่งรับเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ ๓
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ กล่าวในฎีกาเพียงว่า “จำเลยขอให้การกลับคำให้การในชั้นสอบสวนและในชั้นศาลทุกประการและทุกถ้อยกระทงความ โดยจำเลยขอให้การว่ามิได้กระทำความผิดตามคำกล่าวหาของพนักงานสอบสวนและคำฟ้องของโจทก์” โดยจำเลยที่ ๓ มิได้ระบุข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จำเลยประสงค์จะยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาแต่ประการใด ทั้งมิได้กล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีนี้ไม่ถูกต้องในข้อใดอย่างไร ฎีกาของจำเลยที่ ๓ เช่นนี้ไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ วรรค ๒ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ และมาตรา ๒๑๖ ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลยที่ ๓

Share