คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3409/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่เป็นการบังคับให้ต้องนำมาเป็นหลักเสมอไป เมื่อปรากฏว่าค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้ว โจทก์และจำเลยยังโต้แย้งกันอยู่ว่าค่ารายปีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วซึ่งยังมิได้ยุติมาเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีของปีที่พิพาทได้ การจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการได้มีการจัดส่งหลักฐานข้อมูลดังกล่าวให้แก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจำเลยที่ 1 เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กำหนดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเช่าหรือค่ารายปีตามดัชนีราคาผู้บริโภค จึงเป็นอัตราที่มีเหตุผลตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และจำเลยที่ 1 ก็ทราบแล้ว แม้อัตราค่ารายปีของปี 2522 จะมิใช่ค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้ว ซึ่งจะเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีสำหรับปีต่อมาก็ตามแต่โจทก์ก็ได้เพิ่มค่ารายปีตามภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากปี 2522 จนถึงปี 2529 เป็นอัตราที่สูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคที่ทางราชการกำหนด ทั้งไม่สามารถนำค่ารายปีของปีอื่น ๆ มาเป็นหลักคำนวณค่ารายปีพิพาทได้ การคำนวณค่ารายปีสำหรับโรงเรือนและที่ดินคดีนี้ตามอัตราที่โจทก์คำนวณตามฟ้อง จึงเป็นอัตราที่สมควร จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินภาษีที่โจทก์ชำระเกินแก่โจทก์ภายในกำหนด3 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา ถ้าไม่คืนในกำหนดดังกล่าวจึงจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 2เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ไปตามอำนาจหน้าที่ มิใช่ผู้ที่รับภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์ชำระตามคำวินิจฉัย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่คืนเงินภาษีส่วนที่เกินแก่โจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2529 สำหรับโรงเรือนของโจทก์เลขที่ 1 ถนนปูนซิเมนต์ไทย แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครโดยไม่ชอบจำนวน 34 รายการ และจำเลยที่ 2 ได้ชี้ขาดคำขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่โดยไม่ชอบเช่นกัน ขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนที่ได้เรียกเก็บไปโดยมิชอบแก่โจทก์เป็นเงินรวม 190,198.42 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินรายพิพาทและคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ได้กระทำโดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า การกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำปี 2529 ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่เป็นการบังคับให้ต้องนำมาเป็นหลักเสมอไป เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า ค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้ว คือ ค่ารายปีของปี2528 ที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำมาเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีของโรงเรือนพิพาท โจทก์และจำเลยยังโต้แย้งกันอยู่ว่าค่ารายปีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำค่ารายปีของปี 2528 ซึ่งยังมิได้ยุติมาเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีของปี 2529 ได้ ทั้งการนำค่ารายปีของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มาเปรียบเทียบกับโรงเรือนของโจทก์ก็ได้ความว่าโรงเรือนและที่ดินของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัดกับโรงเรือนและที่ดินของโจทก์อยู่คนละถนน คนละแขวงกัน ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โรงเรือนและที่ดินทั้งสองแห่งมีขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่โรงเรือนได้รับประโยชน์เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร แม้ค่ารายปีของโจทก์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดจะต่ำกว่าค่ารายปีของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ก็ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบว่าค่ารายปีของโจทก์เป็นค่ารายปีที่สมควรหรือไม่ส่วนการที่โจทก์นำโรงเรือนบางส่วนให้บุคคลอื่นเช่าในอัตราตารางเมตรละ 100 บาท สูงกว่าค่ารายปีของโจทก์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินในคดีนี้ ก็เห็นว่า ค่าเช่าดังกล่าวหาใช่ค่าเช่าเฉพาะตัวโรงเรือนไม่ เป็นการคิดค่าเช่าที่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าน้ำค่าไฟฟ้า ค่าเครื่องใช้สำนักงาน ค่ารักษาความสะอาด และการรักษาความปลอดภัยด้วย จึงไม่อาจนำอัตราค่าเช่าดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับค่ารายปีคดีนี้เช่นเดียวกัน การกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่จึงมิชอบ และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบไปด้วย
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อมามีว่า ค่ารายปีและภาษีของโรงเรือนพิพาทควรเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์อุทธรณ์ว่า โรงเรือนและที่ดินดังกล่าวควรกำหนดค่ารายปี โดยเพิ่มจากค่ารายปีของปี 2522 ซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งกันตามดัชนีราคาผู้บริโภค ที่ทางราชการเป็นผู้จัดทำขึ้น เห็นว่า การจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการ ได้มีการจัดส่งหลักฐานข้อมูลดังกล่าวให้แก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจำเลยที่ 1 เพื่อจะได้เป็นเกณฑ์กำหนดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเช่าหรือค่ารายปีตามดัชนีราคาผู้บริโภคจึงเป็นอัตราที่มีเหตุผลตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศและจำเลยที่ 1 ก็ทราบแล้วแม้อัตราค่ารายปีของปี 2522 จะมิใช่ค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้ว ซึ่งจะเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีสำหรับปีต่อมาก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้เพิ่มค่ารายปีตามภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากปี 2522 จนถึงปี 2529ในอัตราร้อยละ 107.37 หรือ ตารางเมตรละ 72.76 บาท เป็นอัตราที่สูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคที่ทางราชการกำหนด ทั้งไม่สามารถนำค่ารายปีของปีอื่น ๆ มาเป็นหลักคำนวณค่ารายปีในคดีนี้ได้การคำนวณค่ารายปีสำหรับโรงเรือนและที่ดินพิพาทที่เพิ่มขึ้นจากปี 2522 ในอัตราร้อยละ 107.37 หรือตารางเมตรละ 72.76 บาทจึงเป็นอัตราที่สมควรแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีแก่โจทก์ทั้งสิ้น จำนวน 189,439.30 บาท ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษานี้ ถ้าไม่คืนในกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ไปตามอำนาจหน้าที่ มิใช่ผู้ที่รับภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์ชำระตามคำวินิจฉัย จำเลยที่ 2จึงไม่มีหน้าที่คืนเงินภาษีส่วนที่เกินแก่โจทก์ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 1 และให้เพิกถอนใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีโรงเรือนแก่โจทก์จำนวน 189,439.30 บาทภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษานี้ ถ้าไม่คืนในกำหนดดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันพ้นกำหนด3 เดือน ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share