แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถยนต์คันหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และเป็นคนขับรถยนต์อีกคันหนึ่งซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 เป็นคนขับในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับเสียหลักแล่นไปชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ทำให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วจึงรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องจากจำเลย ดังนี้ แม้จะได้ความว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ด้วยเท่า ๆ กับความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับประกันภัยไว้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวทั้งหมด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำเลยทั้งสองหรือคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิเต็มจำนวนความเสียหายโดยจะแบ่งความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างและจำเลยที่ 4ผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวทั้งหมดเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 60,243 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 59,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-4045 นครราชสีมา จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ลูกจ้าง จำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดแทนจำเลยที่ 3 เหตุมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2แต่เป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 และคนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน80-4045 นครราชสีมา ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายไม่เกิน 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 60,243 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 59,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4ข-2719 กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และเป็นคนขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 70-1645 กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 เป็นคนขับในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3ที่บริเวณทางแยกเข้าอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ตัดกับถนนมิตรภาพ เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับเสียหลักแล่นไปชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ซึ่งกำลังแล่นสวนทางอยู่บนถนนมิตรภาพจากจังหวัดสระบุรีมุ่งหน้าไปอำเภอมวกเหล็กทำให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย โจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเป็นเงิน 59,500 บาท จึงได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องจากจำเลยที่จำเลยที่ 3และที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อนั้นจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้อุทธรณ์ข้อนี้ คงอุทธรณ์แต่เพียงว่าเหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 มากกว่าเท่านั้นฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ จึงเป็นฎีกาข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ขับรถโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันและรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับพุ่งเข้าชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 จะแบ่งความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างคนต่างประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดขึ้นดังกล่าวได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว การที่จำเลยที่ 2 ขับรถใกล้ถึงทางร่วมทางแยกจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องชะลอความเร็วให้ช้าลงและหยุดรถได้ทันเมื่อมีเหตุจำเป็นจำเลยที่ 2 สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ แต่ไม่กระทำ จึงฟังได้ว่าเหตุรถชนกันครั้งนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ด้วยเท่า ๆ กับความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ได้ความดังนี้แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างคนต่างประมาทเลินเล่อก็ตาม แต่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับประกันภัยไว้เป็นเงิน59,500 บาท จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวทั้งหมด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำเลยทั้งสองหรือคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิเต็มจำนวนความเสียหาย 595,500 บาท โดยจะแบ่งความรับผิดต่อโจทก์ดังที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา หาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดทั้งหมดดังได้วินิจฉัยไว้ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างและจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวทั้งหมดเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน