แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเช่าให้โจทก์ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลแพ่ง จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12(4) แต่ผู้เดียวเพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12(4)เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้มีฐานะเป็นผู้ร่วมร้องขอหรือลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อไปได้ แม้ศาลแพ่งจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ตาม
จำเลยที่ 4 กล่าวมาในคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เพียงว่าจำเลยที่ 4 ขอแสดงข้อคัดค้านตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นว่า หากจำเลยที่ 4 มีโอกาสต่อสู้คดี ย่อมทำให้ผลคำตัดสินหรือคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาไม่ถูกต้องเป็นโมฆะ ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลและโจทก์ไม่เสียหายใด ๆ จากสัญญาเท่านั้น โดยจำเลยที่ 4 มิได้แสดงรายละเอียดว่าสัญญาฉบับไหนไม่ถูกต้องเป็นโมฆะเพราะเหตุใด ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลอย่างไรและเหตุใดโจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายจากสัญญา เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ หาได้คัดค้านในเนื้อหาแห่งคำตัดสินของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร หากมีการพิจารณาพิพากษาใหม่แล้วจำเลยที่ 4 จะชนะคดีอย่างไร ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208วรรคสุดท้าย
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์จากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าแก่โจทก์รวมทั้งจำเลยที่ 1 มิได้สงวนรักษาทรัพย์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์ที่เช่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชำระค่าเช่ากับค่าเสียหาย รวมเป็นเงิน 92,625 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 52,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่และขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยอ้างว่า จำเลยทั้งสี่ไม่เคยทราบหรือเห็นหมายเรียก สำเนาคำฟ้อง และหมายนัดในคดีนี้มาก่อน จำเลยทั้งสี่เพิ่งทราบว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 3พฤศจิกายน 2542 จำเลยที่ 4 ขอคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล หากจำเลยที่ 4 มีโอกาสต่อสู้คดี ย่อมทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาไม่ถูกต้องเป็นโมฆะ ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉล นอกจากนี้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ก็เป็นการผิดระเบียบ เพราะเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอฟื้นฟูกิจการและศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.ฟ.8/2542 ของศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2542 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ คดีนี้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2542 และหนี้คดีนี้เป็นหนี้ไม่อาจแบ่งแยกชำระได้ ศาลชอบที่จะไม่รับคำฟ้องหรืองดการพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12(4) ที่แก้ไขใหม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามคำร้องของจำเลยทั้งสี่มิได้บรรยายข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยละเอียด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 อีกทั้งการขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบต้องยื่นก่อนศาลมีคำพิพากษาจึงให้ยกคำร้องค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ทั้งหมด สำหรับคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลและค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในชั้นนี้ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกาขอให้ไม่รับฟ้องจำเลยทั้งสี่และเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่กระทำหลังจากรับฟ้องทั้งหมดกับอนุญาตให้พิจารณาคดีของจำเลยทั้งสี่ใหม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า สำหรับคดีของจำเลยที่ 1 นั้นศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ไม่ฎีกา ดังนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 อย่างยิ่ง ทั้งยังตรงกับความประสงค์ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ในข้อที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ไม่ถูกต้องด้วย จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ซึ่งศาลฎีกาได้สั่งรับมาเป็นข้อแรกว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีเดียวกัน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จะมีผลถึงกระบวนพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ด้วยหรือไม่ ได้ความจากคำร้องของจำเลยทั้งสี่ว่า ตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.ฟ. 8/2542 ของศาลแพ่งซึ่งศาลแพ่งได้รับคำร้องขอของผู้ร้องขอไว้พิจารณานั้น คงมีแต่จำเลยที่ 1 คดีนี้ที่เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1 จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12(4) แต่ผู้เดียวหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 และโจทก์ก็สามารถแยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้อยู่แล้ว ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะถูกโจทก์ฟ้องให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นคดีเดียวกันกับคดีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12(4) ที่แก้ไขใหม่เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้มีฐานะเป็นผู้ร่วมร้องขอหรือลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มายื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้ใหม่นั้นก็ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เองได้ยอมรับอยู่ในตัวแล้วว่าศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ คดีจึงฟังได้ว่าศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อไปได้แม้จำเลยที่ 1 คดีนี้ศาลแพ่งจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ศาลฎีกาสั่งรับไว้ข้อต่อไปว่าคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคสุดท้ายหรือไม่ ศาลฎีกาได้ตรวจคำร้องของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้กล่าวมาในคำร้องเป็นข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นเลย คำร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสุดท้าย ส่วนจำเลยที่ 4 ก็กล่าวมาในคำร้องเพียงว่าจำเลยที่ 4 ขอแสดงข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นว่า หากจำเลยที่ 4มีโอกาสต่อสู้คดี ย่อมทำให้ผลคำตัดสินหรือคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาไม่ถูกต้องเป็นโมฆะ ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลและโจทก์ไม่เสียหายใด ๆจากสัญญาเท่านั้น โดยจำเลยที่ 4 มิได้แสดงรายละเอียดว่าสัญญาฉบับไหนไม่ถูกต้องเป็นโมฆะเพราะเหตุใด ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลอย่างไรและเหตุใดโจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายจากสัญญา ถือว่าเป็นคำร้องที่ไม่มีรายละเอียดชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 4 แพ้คดีไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง แม้จำเลยที่ 4 จะกล่าวมาด้วยว่า จำเลยที่ 4 ขอแสดงข้อคัดค้านคำชี้ขาดตัดสินของศาลชั้นต้น หากจำเลยที่ 4 มีโอกาสต่อสู้คดีย่อมทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ หาได้คัดค้านในเนื้อหาแห่งคำตัดสินของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร หากมีการพิจารณาพิพากษาใหม่แล้ว จำเลยที่ 4 จะชนะคดีอย่างไร ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสุดท้าย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าคำร้องของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคสุดท้าย จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังจากศาลแพ่งมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และศาลชั้นต้นรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษา ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12(4) แล้วมีคำพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาแก้ไขเป็นว่าไม่รับคำฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 มาด้วยยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รับคำฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ