คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องมิใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ผู้ตายได้ที่ดินมาหลังจากอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับผู้ร้องและไม่ปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการให้โดยเสน่หา ที่ดินจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายและผู้ร้องเป็นเจ้าของร่วมกัน ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายได้

ย่อยาว

ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายบุญอยู่ ลินทมิตร ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2539โดยมิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องที่ 1 และต่อมาขอถอนคำร้องขอ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ผู้คัดค้านทั้งห้ายื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องที่ 1 มิใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรผู้ตายกับนางตอง ลินทมิตร ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรผู้ตายกับนางสว่าง แซ่มอ ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรผู้ตายกับนางจำลอง ห้วยหงษ์ทอง ผู้คัดค้านที่ 5 เป็นบุตรผู้ตายกับนางสาวเกษแก้ว กิจโสภี ผู้ตายจดทะเบียนรับรองผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตร และได้รับรองโดยพฤติการณ์ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นบุตร ผู้ตายยังมีบุตรที่เกิดจากภริยาอื่นอีกหลายคน ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกโดยปิดบังทายาท ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องขอและตั้งผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 นางจำลองและนางสาวเกษแก้วเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องที่ 1

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องที่ 1 และตั้งผู้คัดค้านที่ 1ที่ 2 นางจำลอง ห้วยหงษ์ทอง และนางสาวเกษแก้ว กิจโสภี ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้ร้องที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้รับรองแล้วและผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายโดยผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 6 ได้บัญญัติถึงวิธีการและขั้นตอนการขอจดทะเบียนสมรสและการจดทะเบียนสมรสก่อนที่นายทะเบียนจะลงลายมือชื่อเป็นสำคัญในทะเบียนสมรสตามมาตรา 7 โดยมาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนผู้ร้องต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญในทะเบียนต่อหน้านายทะเบียนและต่อหน้าพยานสองคนซึ่งต้องลงลายมือชื่อไว้ในทะเบียนในขณะนั้นด้วย…” แต่ตามทะเบียนการสมรสเอกสารหมาย ร.1 ปรากฏว่ามีลายมือชื่อพยานเพียงคนเดียว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องที่ 1 กับผู้ตายได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน 2 คน เมื่อผู้ร้องที่ 1 กับผู้ตายมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด การจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้ตายจึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการจดทะเบียนสมรสรายนี้ไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะเหตุนายทะเบียนมิได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่มีผลต่อรูปคดี อย่างไรก็ดี แม้ผู้ร้องที่ 1 จะมิใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนรับรองบุตรฉบับลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2516 ว่าผู้ตายได้อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ร้องที่ 1 จนมีบุตรที่ขอจดทะเบียนรับรองจึงเชื่อว่าผู้ตายได้อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ร้องที่ 1 มาก่อนปี 2516 แล้ว ที่ดินมรดกและรถยนต์ที่ระบุตามคำร้องผู้ตายได้มาหลังจากอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับผู้ร้องที่ 1 และไม่ปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการรับมรดกหรือได้มาโดยการให้โดยเสน่หา ที่ดินและรถยนต์ดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายและผู้ร้องที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน ถือได้ว่าผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ผู้ร้องที่ 1 จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายได้ และผู้ร้องที่ 1 มิได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย จึงสมควรตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share