คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 34/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนตั้งแต่ มาตรา 217 ถึง มาตรา 239 นั้นมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 16 ซึ่งใช้บังคับระหว่างเกิดเหตุให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา ดังนั้น ที่ศาลจังหวัดปราจีนบุรีรับฟ้องคดีซึ่งมีคำขอให้ลงโทษตามมาตรา 229 ซึ่งเป็นบทหนักไว้ดำเนินการตลอดมาถึงชั้นศาลอุทธรณ์ จึงไม่ชอบที่จะกระทำได้เกี่ยวกับอำนาจศาล
ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มีความหมายเพียงว่า เมื่อศาลพลเรือนสั่งรับฟ้องไว้ความยังไม่ปรากฏโดยแจ้งชัดว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ เช่น ยังไม่แน่ว่าจำเลยเป็นทหารประจำการหรือไม่ ต่อเมื่อได้รับฟ้องแล้วความจึงปรากฏว่าจำเลยเป็นทหารประจำการดังนี้ ศาลพลเรือนย่อมดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ (อ้างนัยฎีกาที่ 463/2504) แต่เมื่อคดีปรากฏตั้งแต่แรกตามฟ้องว่า ความผิดที่กล่าวหาเป็นความผิดที่ต้องขึ้นอยู่ในอำนาจศาลทหารตามประกาศคณะปฏิวัติ ฯ แล้ว เช่นนี้หาใช่ความเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังว่า เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารไม่ (อ้างฎีกาที่ 1352/2506) ศาลพลเรือนไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณาพิพากษา พิพากษากลับ ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองบังอาจสมคบร่วมกระทำผิดทำลายทางสาธารณะ โดยขุดหลุมไปในทางสาธารณ ทำให้ทางถูกตัดขาดออกจากกันเป็นหลุมลึกอยู่ในลักษณะน่าจะเป็นเหตุร้ายเกิดอันตรายแก่การจราจร โดยไม่ได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๙, ๓๘๖, ๘๓
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าที่ดินตรงที่โจทก์หามิใช่ทางสาธารณะและไม่ได้ขุดทำลาย จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ไม่มีเจตนาให้เป็นการขัดขวางน่าจะเป็นอันตรายแก่การสัญจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๙, ๘๓ คนละ ๖ เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานทำลายทางสาธารณะ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๙, ๓๘๖, ๘๓ และเห็นว่าความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนตั้งแต่ มาตรา ๒๑๗ ถึง ๒๓๙ นั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๖ ซึ่งใช้บังคับในระหว่างเกิดเหตุคดีนี้ว่า ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา ดังนั้นที่ศาลจังหวัดปราจีนบุรี รับฟ้องคดีนี้ซึ่งมีคำขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๒๙ ซึ่งเป็นบทหนักไว้ดำเนินการตลอดมาถึงชั้นศาลอุทธรณ์ จึงไม่ชอบที่จะกระทำได้เกี่ยวกับอำนาจศาล ที่ ปรากฏตามสำนวนว่า ศาลชั้นต้นเห็นว่า โดยที่ศาลพลเรือนได้สั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้ว อาศัยมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ จึงได้ดำเนินการพิจารณาพิพากษาจนเสร็จสำนวนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๑๕ ดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า เมื่อศาลพลเรือนสั่งรับฟ้องไว้ความยังไม่ปรากฏโดยแจ้งชัดว่า คดีนั้นอยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ เช่น ยังไม่แน่ใจว่าจำเลยเป็นทหารประจำการหรือไม่ ต่อเมื่อได้รับฟ้องแล้วความจึงปรากฏว่าเป็นทหารประจำการ ดังนี้
ศาลพลเรือนที่รับฟ้องไว้ย่อมดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไปด้ นัยฎีกาที่ ๔๖๓/๒๕๐๔ แต่คดีนี้ปรากฏตั้งแต่แรกตามฟ้องแล้วว่า ความผิดที่กล่าวหาแก่จำเลยเป็นเป็นความผิดที่ต้องขึ้นอยู่ในอำนาจศาลทหารตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๖ หาใช่ความเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารไม่ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า เมื่อได้รับประทับฟ้องไว้แล้วก็ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปได้นั้น จึงไม่ชอบที่จะกระทำได้โดยอาศัยมาตรา ๑๕ ดังกล่าว ดังฎีกาที่ ๑๓๕๒/๒๕๐๖ จึงเห็นว่า คดีนี้ศาลพลเรือนไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณาพิพากษา พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share