คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416-1418/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โดยที่โจทก์จำเลยร้องขอต่อศาลให้ไปเดินเผชิญสืบตรวจดูว่าพนังทุ่งปุยรายพิพาทจะเป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกของจำเลยหรือไม่ฉะนั้น การที่ศาลไปตรวจดูจึงเป็นการไปสืบพยานตามที่ทั้งสองฝ่ายอ้าง และการที่คู่ความทั้งสองฝ่ายขอ ศาลก็ได้ไปตรวจดูตามที่ขอนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการสืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้(ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226,241) แล้วและแม้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่มีใครยื่นแสดงรายการแห่งวัตถุพยานไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ก็ชอบที่จะขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามมาตรานี้วรรคสามฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นได้ไปตรวจดูที่พิพาทตามคำขอของคู่ความทั้งสองฝ่าย จึงถือได้ว่าเป็นการอนุญาตตามที่ศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม

ย่อยาว

คดีทั้ง 33 สำนวน ศาลล่างพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องกล่าวหาเป็นอย่างเดียวกันว่า จำเลยทั้ง 33 สำนวนมีที่ดินเพาะปลูกอยู่ในเขตที่ได้รับประโยชน์จากการชลประทานส่วนราษฎรเหมืองฝางทุ่งปุยเพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไขการชลประทานส่วนราษฎรนี้นายอำเภอได้สั่งให้นายอารมย์หัวหน้าการชลประทานทำการซ่อมแซมเพื่อเป็นการเตรียมป้องกันน้ำที่จะไหลบ่าเข้ามาในเขตการชลประทานในฤดูฝนเพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์จากการชลประทานทั่วถึงกันหัวหน้าการชลประทานซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้สั่งเกณฑ์จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์ส่วนได้เสียกับการชลประทานไปทำการซ่อมแซมแก้ไขการชลประทานราษฎร์นี้ในวันเวลาที่กำหนด จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ยอมไปซ่อมแซมแก้ไขตามคำสั่งเกณฑ์โดยเจตนาขัดขืน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ พ.ศ. 2482 มาตรา 18, 38(ก)

จำเลยทุกคนให้การว่า ได้รับคำสั่งเกณฑ์ให้ไปทำการซ่อมแซมแก้ไขไม่เป็นประโยชน์แก่การเพาะปลูกของจำเลย จำเลยจึงไม่ทำตามคำสั่ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามฟ้อง คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษกึ่งหนึ่ง ปรับคนละ 25 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนและวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การดูที่พิพาทของศาลชั้นต้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 241 แล้ว

จำเลยทั้ง 33 สำนวนฎีกาข้อกฎหมายว่า การไปดูที่พิพาทของศาลชั้นต้นตามคำขอของโจทก์จำเลยไม่เป็นการสืบพยานที่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีฝ่ายใดระบุไว้ในบัญชีพยานที่แต่ละฝ่ายยื่น จึงขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานใหม่ หรือยกฟ้องโจทก์

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์จำเลยทั้งสองฝ่ายร้องขอต่อศาลให้ไปเดินเผชิญสืบตรวจดูที่พิพาทว่า พนังทุ่งปุยรายพิพาทจะเป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกของจำเลยหรือไม่ การที่ศาลไปตรวจดูจึงเป็นการไปสืบพยานตามที่ทั้งสองฝ่ายอ้าง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 บัญญัติว่า พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคล ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ ฯลฯ และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยานและมาตรา 241 ก็ได้บัญญัติถึงเรื่องการสืบพยานวัตถุว่าสิ่งใดใช้เป็นพยานวัตถุต้องนำมาศาลในกรณีที่นำมาไม่ได้ให้ศาลไปตรวจจดรายงานยังที่พยานวัตถุนั้นอยู่ ฉะนั้น การที่คู่ความทั้งสองฝ่ายขอให้ศาลไปตรวจดูที่พิพาทและศาลก็ได้ไปตรวจดูตามที่ขอนั้นแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการสืบพยานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้แล้ว ถึงแม้กรณีจะเป็นดังที่จำเลยฎีกาว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่มีใครยื่นแสดงรายการแห่งวัตถุพยานนั้นไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 แต่วรรค 3 มาตราเดียวกันนี้ก็บัญญัติว่า แม้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสองวรรคแรกได้สิ้นสุดแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดมีเหตุสมควรอื่นใดก็ชอบที่จะขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ การที่ศาลชั้นต้นได้ไปตรวจดูที่พิพาทตามคำขอของคู่ความทั้งสองฝ่าย จึงถือได้ว่าเป็นการอนุญาตตามที่ศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงไม่เป็นการสืบพยานที่ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามที่จำเลยฎีกา พิพากษายืน

Share