แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วนำมาแบ่งกันที่บ้านของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ได้รับทรัพย์ของผู้เสียหายไว้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนี้ แต่กรณีถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องระหว่างการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์กับรับของโจร มิให้ถือว่าต่างกันในสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 4 มิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340, 340 ตรี, 371, 91, 92 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบเสื้อแขนยาวสีน้ำเงิน 2 ตัว กางเกงยีนสีน้ำเงิน เสื้อเชิ้ตแขนยาวผ้ายีน หมวกคลุมศีรษะ ปืนไฟแช็กแก๊ส อาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ของกลาง และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ จำนวน 14,160 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ ส่วนจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุกคนละ 18 ปี และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 19 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 9 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 ปี 9 เดือน ริบหมวกคลุมศีรษะ ปืนไฟแช็กแก๊สและอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ของกลาง และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 14,160 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า นายพิเชษฐ์ ผู้เสียหายซึ่งอยู่ที่บ้านเลขที่ 5 หมู่ที่ 2 ตำบลวันดาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และใช้บ้านดังกล่าวเปิดขายของชำ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยจำเลยที่ 3 จอดรถจักรยานยนต์รอดูต้นทางและจำเลยที่ 1 และที่ 2 สวมหมวกคลุมหน้าและถืออาวุธปืนเข้ามาในร้านของผู้เสียหายแล้ว ใช้อาวุธปืนตีที่บริเวณใบหน้าและศีรษะผู้เสียหายคนละครั้งและหยิบเอาเงินสดจำนวน 10,300 บาท บัตรเอทีเอ็ม 5 ใบ บัตรเติมเงินโทรศัพท์ 51 ใบ จากลิ้นชักโต๊ะของผู้เสียหาย และหยิบเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 6220 จำนวน 1 เครื่อง ใส่ถุงพลาสติกแล้วพากันขับรถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ที่หน้าร้านหลบหนี หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนสอบสวนแล้วทราบว่ามีผู้ต้องสงสัยสี่คนเป็นคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์ในคดีนี้ คือจำเลยทั้งสี่ ต่อมาจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ และจำเลยที่ 4 เข้ามอบตัว ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธ และยึดของกลางจากจำเลยที่ 1 เป็นบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ราคา 100 บาท จำนวน 1 ใบ ราคา 300 บาท จำนวน 3 ใบ ยึดรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กษน ราชบุรี 595 จากเพื่อนของจำเลยที่ 3 ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหาย 1 เครื่อง เงินสด 1,200 บาท และไฟแช็กแก๊สทำเป็นลักษณะปืน 1 อัน จากจำเลยที่ 2 กับยึดของกลางบางส่วนได้จากบ้านของจำเลยที่ 4 สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ที่นำมาสืบในชั้นพิจารณานั้น คงมีแต่คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งให้การในทำนองเดียวกันว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 4 ร่วมกันวางแผนในการปล้นทรัพย์โดยแบ่งหน้าที่กันกระทำความผิดคือให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้รถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นยานพาหนะขับเข้าไปจอดที่หน้าร้านของผู้เสียหายโดยมีอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์และไฟแช็กแก๊สซึ่งทำขึ้นมีลักษณะคล้ายปืนเป็นอาวุธติดตัวไปข่มขู่และตีผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บและปล้นเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายหลายรายการจากผู้เสียหายไป โดยขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ใช้รถจักรยานยนต์อีก 1 คัน จอดรอดูต้นทางและให้จำเลยที่ 4 ขับรถจักรยานยนต์ไปรออยู่ที่ถนนสายธนบุรี – ปากท่อ เพื่อรอรับจำเลยอื่นหลังการปล้นทรัพย์ แล้วพากันไปแบ่งทรัพย์สินที่บ้านของจำเลยที่ 4 และนอกจากนี้พันตำรวจตรีสุนทรเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพันตำรวจโทฉัตรชัยพนักงานสอบสวนต่างได้รับคำบอกเล่าจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า จำเลยที่ 4 เป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้ พยานโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ที่โจทก์นำมาสืบในชั้นพิจารณาคงมีแต่พยานบอกเล่าทั้งสิ้น ทำให้พยานโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 มีน้ำหนักน้อย แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยอมรับว่ากระทำความผิดจริงและมิใช่เป็นเรื่องการปัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ตาม และพันตำรวจตรีสุนทรและพันตำรวจโทฉัตรชัยจะได้รับฟังคำให้การจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ที่มีส่วนร่วมกระทำความผิดนั้นก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า และโจทก์เองก็ไม่มีพยานอื่นมาสืบในชั้นพิจารณาเพื่อนำมาประกอบกับพยานบอกเล่าดังกล่าว ทำให้พยานโจทก์ในความผิดฐานปล้นทรัพย์มีน้ำหนักน้อย ทั้งจำเลยที่ 4 ก็นำสืบโต้แย้งว่า จำเลยที่ 4 มิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ พยานโจทก์จึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 4 จะมีส่วนในการร่วมกันแบ่งหน้าที่ในการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายในคดีนี้หรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยโดยยังไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ได้
อย่างไรก็ดี มีเหตุผลเชื่อว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปล้นทรัพย์สินที่ปล้นทรัพย์นั้นมาแบ่งกันที่บ้านของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ได้รับทรัพย์ของผู้เสียหายคือบัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 10 ใบ และจำเลยที่ 4 รับจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไว้ จึงมีเหตุผลเชื่อว่าจำเลยที่ 4 รู้อยู่แล้วว่าทรัพย์ที่จำเลยที่ 4 รับจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์และจำเลยที่ 4 รับทรัพย์ดังกล่าวไว้เพื่อเป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนี้ แต่กรณีถือได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ให้จำคุก 5 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ และให้ยกคำขอของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 เกี่ยวกับการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7