แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสบคบกันหลอกลวงโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเสนอขายฝากโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาขายฝากในราคา 1,500,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองกลับทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคาเพียง 500,000 บาท แล้วหลอกลวงโจทก์ว่าทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคา 1,500,000 บาท โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท โจทก์ร้องทุกข์ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกง โจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา ต่อมาคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองและพิพากษายกฟ้อง เท่ากับว่าได้มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง และในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งซึ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงเท่ากับยกฟ้องคดีในส่วนแพ่งไปแล้วด้วย ข้อเท็จจริงในคดีอาญานั้นจึงผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างถึงคดีอาญาดังกล่าวไว้ชัดเจน และขอติดตามเอาทรัพย์คืน 1,000,000 บาท ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงิน 1,000,000 บาท ไปจากโจทก์หรือไม่ จึงเป็นประเด็นเดียวกับคดีอาญาดังกล่าว ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 1,171,985.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 5,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 18,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 38444 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มาจดทะเบียนขายฝากแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจทำสัญญาแทนโจทก์ ระบุราคาขายฝาก 500,000 บาท ต่อมาโจทก์แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง โดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ว่าทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคา 1,500,000 บาท ไม่ใช่ 500,000 บาท เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อมอบเงินแก่จำเลยทั้งสองเกินไป 1,000,000 บาท พนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4781/2557 หมายเลขแดงที่ 3261/2558 ของศาลชั้นต้น เรื่องฉ้อโกง และมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 1,000,000 บาท โจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการด้วย ต่อมาในคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว และจำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1868/2557 หมายเลขแดงที่ 1211/2558 ของศาลชั้นต้น เรื่องขอไถ่ถอนการขายฝาก โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์รับไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 คดีถึงที่สุดแล้วเช่นกัน สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องคืนเงิน 872,500 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งอ้างเหตุว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันหลอกลวงโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 38444 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มาเสนอขายฝากโจทก์โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาขายฝากแทนในราคา 1,500,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองกลับทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคาเพียง 500,000 บาท แล้วหลอกลวงโจทก์ว่าทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคา 1,500,000 บาท เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง และพนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง โดยโจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาด้วย ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีอาญา ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเหตุผลตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้ว ศาลชั้นต้นให้เหตุผลว่า ที่โจทก์ร่วมเบิกความอ้างว่าหลังทำสัญญาขายฝากกับจำเลยที่ 2 แล้ว ยังไม่ได้รับมอบหนังสือสัญญาขายฝากจากจำเลยที่ 1 จึงไม่ทราบว่ามีการจดทะเบียนขายฝากในจำนวนเงินเพียง 500,000 บาท นั้น โจทก์ร่วมตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า นอกจากประกอบอาชีพค้าขายแล้ว โจทก์ร่วมยังให้ผู้อื่นกู้ยืมเงิน รับซื้อฝาก หรือรับจำนองทรัพย์สินของผู้อื่น โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแทนหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมหารายได้จากการดำเนินการดังกล่าวเป็นอาชีพด้วย เชื่อว่าต้องมีความระมัดระวังในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะนิติกรรมที่โจทก์ร่วมต้องจ่ายเงินแก่คู่สัญญาจำนวนมาก การที่โจทก์ร่วมอ้างว่า หลังจากมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนรับซื้อฝากในจำนวนเงินสูงถึง 1,500,000 บาท แล้วไม่ตรวจสอบผลการดำเนินการในทันที หรืออย่างช้าก่อนที่จะจ่ายเงินตามสัญญาให้ผู้ขายฝาก ด้วยเหตุผลที่ว่า จำเลยที่ 1 แจ้งว่าเอกสารอยู่ที่อื่นและบ่ายเบี่ยงไม่ยอมนำหนังสือสัญญาขายฝากมามอบให้เท่านั้น โดยโจทก์ร่วมปล่อยเวลาให้เนิ่นช้าถึงประมาณ 1 ปี จึงขอตรวจสอบไปที่สำนักงานที่ดิน ทั้งที่สามารถดำเนินการได้เองเช่นนี้ จึงผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบการอาชีพดังกล่าวโดยทั่วไป เป็นพิรุธ และโจทก์ร่วมยังตอบการถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ว่า การทำสัญญาขายฝากกับจำเลยที่ 2 ตกลงกันว่า โจทก์ร่วมจะรับผิดชอบค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไปก่อน แล้วจะนำไปหักออกจากเงินที่จะมอบให้จำเลยที่ 2 ตามสัญญาขายฝาก และโจทก์ร่วมทราบว่าค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนขายฝากคิดในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ซึ่งโจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจดทะเบียน จำนวน 25,000 บาท โดยที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่าเงินที่มอบให้จำเลยที่ 1 ไปเป็นค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ แต่โจทก์ร่วมเบิกความว่า โจทก์ร่วมถอนเงินจากธนาคารนำมารวมกับเงินสดที่โจทก์ร่วมมีอยู่ขณะนั้น รวมเป็นเงิน 1,500,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 2 ไป โดยไม่ปรากฏว่า มีการหักค่าใช้จ่ายออกก่อนจึงขัดแย้งกัน พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสอง และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าได้มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ศาลเห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้อง และในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งซึ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงเท่ากับยกฟ้องในคดีส่วนแพ่งไปแล้วด้วย ข้อเท็จจริงในคดีอาญานั้นจึงผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงคดีอาญาดังกล่าวไว้ชัดเจน และขอติดตามเอาทรัพย์คืน 1,000,000 บาท ปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ได้รับเงิน 1,000,000 บาท ไปจากโจทก์หรือไม่นั้น จึงเป็นประเด็นเดียวกับคดีอาญาดังกล่าว ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยมาแล้ว โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 9,000 บาท