แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 และ 174 นอกจากจะต้องแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อแกล้งให้ ผู้อื่นต้องรับโทษแล้ว ผู้กระทำจะต้องรู้ว่าข้อความที่ แจ้งนั้นเป็นเท็จด้วย จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน โดยมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่าต้องดำเนินคดีแก่โจทก์ ส่วนการจะตั้งข้อหาดำเนินคดีแก่โจทก์หรือไม่ ก็เป็นอำนาจ หน้าที่ของพนักงานสอบสวน หาได้เกิดจากการกระทำของจำเลย โดยตรง กรณียังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความ อันเป็นเท็จดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173, 174, 90 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 173 และ 174 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 และ 174 หรือไม่ ที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหลักสองก็โดยอาศัยคำแจ้งความของจำเลยตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.10 ทางพิจารณาได้ความว่า ก่อนที่จำเลยไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ โจทก์ติดต่อตึกแถวเลขที่ 55/247 หมู่ที่ 3 ให้จำเลยเช่า โจทก์ช่วยจำเลยขนย้ายทรัพย์สินไปที่ตึกแถวเลขที่ดังกล่าวโดยโจทก์ว่าจ้างนายเปี๊ยก เปรมปราบภัย เป็นผู้จัดหาคนงานและรถยนต์บรรทุกและโจทก์เป็นผู้ควบคุมการขนย้าย ปรากฏว่าทรัพย์สินของจำเลยหายไปหลายรายการ ต่อมาจำเลยพบโจทก์และทรัพย์สินที่หายอยู่ที่บ้านเลขที่ 70/2 หมู่ที่ 2 โดยคนในบ้านยอมรับว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่เมื่อจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินดังกล่าวคืนนางอำพัน ภู่สุด และนายเปี๊ยกหรือจรวยไม่ยอมให้ขนย้ายโดยอ้างว่าต้องให้โจทก์มาด้วย จำเลยจึงไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเห็นว่า ในคดีที่จำเลยแจ้งความดังกล่าว แม้พนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวโดยเห็นว่าหลักฐานไม่พอก็ตาม คำสั่งของพนักงานอัยการดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นที่พิจารณาสั่งไปตามพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนเท่านั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันคดีนี้ให้ต้องพิจารณาไปตามนั้น เพราะการจะเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามฟ้อง นอกจากจะต้องแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อแกล้งให้ผู้อื่นต้องรับโทษแล้ว ผู้กระทำจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จด้วย แต่คดีนี้จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเป็นการแจ้งความตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นแก่จำเลย โดยมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่า ต้องดำเนินคดีแก่โจทก์ ส่วนการจะตั้งข้อหาดำเนินคดีแก่โจทก์หรือไม่ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน หาได้เกิดจากการกระทำของจำเลยโดยตรง กรณียังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังโจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน