คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3382/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 จะต้องมีการกระทำโดยประมาทและการกระทำโดย ประมาทนั้นต้องเป็นผลโดยตรงให้เกิดความตาย จำเลยร้องบอกให้เด็กหญิง จ. ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำไปโดยบอกว่าจำเลยจะลงมาช่วย เมื่อเป็นแต่เพียงคำชี้แนะของจำเลย จำเลยหาได้บังคับเด็กหญิง จ. ให้ต้องว่ายน้ำข้ามแม่น้ำไปไม่ เด็กหญิง จ. มีอายุ 14 ปีเศษมีวุฒิภาวะพอที่จะรู้ว่าตนเองมีความสามารถพอที่จะว่ายน้ำข้ามไปได้หรือไม่ เมื่อเด็กหญิง จ. ตัดสินใจสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยเอง และเด็กหญิง จ. จมน้ำและถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากกระแสน้ำไหลเชี่ยว เช่นนี้ความตายของเด็กหญิง จ. หาได้เกิดจากการกระทำของจำเลยไม่ทั้งไม่ใช่เป็นผลโดยตรงอันเนื่องมาจากการชี้แนะของจำเลยจำเลยจึงมิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เด็กหญิง จ.ถึงแก่ความตาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 278, 291, 317 และ 318
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และ 317 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา 3 ปี ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน15 ปี ไปเสียจากผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรจำคุก 3 ปีรวมจำคุก 6 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยรับโทษจำคุกมาก่อนและตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยที่ 2 เพียงแต่ดึงนางสาวจิรวดี ศรีบาง ผู้เสียหายที่ 3เข้ามากอด และตบหน้าผู้เสียหายที่ 3 เพียง 1 ครั้ง มิได้บังคับขู่เข็ญ ทั้งได้นำผู้เสียหายที่ 3 กลับไปที่กระท่อมและเป็นธุระแจ้งเรื่องเด็กหญิงจรุณี ขันตี จมน้ำถึงแก่ความตายให้ญาติผู้ตายทราบ นับเป็นเหตุอันควรปรานี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพรากเด็กหญิงจรุณีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลตามฟ้อง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 1กับพวกกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เด็กหญิงจรุณีถึงแก่ความตายหรือไม่ โจทก์มีนางสาวจิรวดีเบิกความเป็นพยานว่า ในวันเกิดเหตุพยานกับเด็กหญิงจรุณี นายวิท นายบื๋อ และนายใน ไม่ทราบนามสกุลพาย เรือข้ามฝั่งไปเที่ยวที่ห้วยน้ำเป จนถึงเวลาประมาณ12 นาฬิกา นายวิท พาย เรือกลับไปก่อนต่อมาเวลาบ่ายพยานกับพวกดังกล่าวชวนกันกลับแต่ไม่มีเรือ จึงพากันเดินลุยน้ำเรื่อยมาจนใกล้ฝั่ง บริเวณดังกล่าวกระแสน้ำไหลเชี่ยวจำเลยที่ 1 กับนายฉลองหรือหลองยืนอยู่บนฝั่งร้องบอกว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจมาจับคนที่บ้านของจำเลยที่ 1 และมีญาติพยานกับญาติเด็กหญิงจรุณีมาตามให้รีบกลับ นายบื๋อกับนายในวิ่งย้อนกลับขึ้นฝั่งไป จำเลยที่ 1 ร้องบอกให้พยานกับเด็กหญิงจรุณีว่ายน้ำข้ามฝั่งไปโดยบอกว่าจะลงมาช่วยพยานว่ายน้ำต่อไปไม่ไหว จึงกลับมายืนอยู่ที่เดิม ส่วนเด็กหญิงจรุณีว่ายน้ำต่อไป โดยนายฉลองหรือหลองลงมาช่วยแต่ช่วยไม่ได้ จึงเรียกให้จำเลยที่ 1 ลงมาช่วย จำเลยที่ 1 ก็ไม่สามารถช่วยเด็กหญิงจรุณีได้ จนเด็กหญิงจรุณีจมน้ำหายไปและถึงแก่ความตาย เห็นว่า การที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จะต้องมีการกระทำโดยประมาท และการกระทำโดยประมาทนั้นต้องเป็นผลโดยตรงให้เกิดความตาย คดีนี้แม้จะได้ความตามคำเบิกความของนางสาวจิรวดีว่า จำเลยที่ 1 ร้องบอกให้เด็กหญิงจรุณีว่ายน้ำข้ามไปโดยบอกว่าจะลงมาช่วยก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงคำชี้แนะของจำเลยที่ 1 หาได้บังคับเด็กหญิงจรุณีให้ต้องว่ายน้ำข้ามไปไม่ เด็กหญิงจรุณีมีอายุ 14 ปีเศษ น่าเชื่อว่ามีวุฒิภาวะพอที่จะรู้ว่าตนเองมีความสามารถพอที่จะว่ายน้ำข้ามไปได้หรือไม่ การที่เด็กหญิงจรุณีตัดสินใจว่ายน้ำข้ามไปเป็นการสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยเอง เมื่อเด็กหญิงจรุณีจมน้ำและถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากกระแสน้ำไหลเชี่ยว และจำเลยที่ 1 กับพวกไม่สามารถช่วยเด็กหญิงจรุณีได้ความตายก็หาได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ทั้งไม่ใช่เป็นผลโดยตรงอันเนื่องมาจากการชี้แนะของจำเลยที่ 1กับพวก จำเลยที่ 1 กับพวกจึงมิได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เด็กหญิงจรุณีถึงแก่ความตาย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยพยานจำเลยที่ 1”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้ปกครองและผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรของจำเลยที่ 1 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share