คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3382/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ฟ้องและจำเลยฟ้องแย้งจะอุทธรณ์ฎีกาได้เพียงใดหรือไม่ต้องแยกพิจารณาคนละส่วน
ฟ้องโจทก์ระบุว่าอาวุธปืนพิพาทมีราคา 20,000 บาท ในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องโจทก์แต่เพียงว่าอาวุธปืนพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดก ฉะนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องโจทก์จึงมีเพียง20,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224วรรคหนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยก็ถือว่าไม่ชอบ และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ตามสัญญาเช่าซื้อที่ ส.ทำไว้ให้แก่สำนักงานปฏิรูปที่ดินระบุว่าหากผู้เช่าซื้อถึงแก่กรรมในระหว่างเช่าซื้อ ที่ดินที่เช่าซื้อนี้จะต้องตกอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ซึ่งบัญญัติให้ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ฯลฯทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีการออกกฎกระทรวงตามกฎหมายมาตราดังกล่าว ส่วนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโอนและการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30 วรรคหนึ่งของ พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่เพิ่งมีการประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษาภายหลังที่ ส.ถึงแก่ความตาย แต่เมื่อสิทธิการเช่าซื้อที่ดินพิพาทได้ตกทอดแก่ทายาทของ ส.ทันทีเมื่อ ส.ถึงแก่ความตายก่อนระเบียบดังกล่าวประกาศใช้แล้ว ระเบียบดังกล่าวจึงนำมาบังคับใช้กับคดีนี้ไม่ได้ จำเลยที่ 1 มารดาของ ส. และจำเลยที่ 2 และที่ 3บุตรของ ส.เป็นทายาทโดยธรรมของ ส.ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกในสิทธิการเช่าที่ซื้อที่ดินร่วมกับโจทก์ซึ่งเป็นภริยาของโจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ.มาตรา 1629 และตามพ.ร.บ.เพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39

Share