คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3381/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามใบแต่งทนายความที่จำเลยแต่งให้ ป. เป็นทนายความระบุว่า ให้ ป. มีอำนาจเพียงว่าต่างแก้ต่างในคดีเรื่องนี้ในศาลชั้นต้นเท่านั้นไม่ได้ระบุให้มีอำนาจใช้สิทธิในการฎีกาด้วย ป. ทนายความของจำเลยจึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 ฟ้องฎีกาของจำเลยที่ ป. ลงชื่อเป็นผู้ฎีกาจึงเป็นคำฟ้องฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันแล้วโดยจดทะเบียนหย่าตามกฎหมาย จำเลยตกลงให้ทรัพย์ตามฟ้องตกได้แก่โจทก์และบุตรทั้งสี่คนต่อมาโจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวให้แก่บุตรทั้งสี่ จำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า การหย่าได้กระทำกันหลอก ๆ จำเลยไม่เคยสละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามฟ้อง โจทก์จึงยังไม่ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า โจทก์และบุตรทั้งสี่คนได้กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินตามฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมาย ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาโดยทนายความของจำเลยลงชื่อเป็นผู้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องฎีกาของจำเลยปรากฏว่านายปิยพงษ์เทียมฤทธิ์ ทนายความของจำเลยลงชื่อเป็นผู้ฎีกา แต่ตามใบแต่งทนายความที่จำเลยแต่งให้นายปิยพงษ์ เทียมฤทธิ์เป็นทนายความของจำเลยในคดีเรื่องนี้ (ตามสารบาญในสำนวนอันดับที่ 61 ) ปรากฏว่าได้ระบุให้นายปิยพงษ์ เทียมฤทธิ์ มีอำนาจเพียงว่าต่างแก้ต่างในคดีเรื่องนี้ในศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ได้ระบุให้มีอำนาจใช้สิทธิในการฎีกา นายปิยพงษ์ เทียมฤทธิ์ทนายความของจำเลยจึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น คำฟ้องฎีกาของจำเลยที่นายปิยพงษ์ เทียมฤทธิ์ ลงชื่อเป็นผู้ฎีกาจึงเป็นคำฟ้องฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลย คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดชั้นฎีกาแก่จำเลย

Share