แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากโจทก์ แต่จำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมอบให้โจทก์โดยยังไม่ได้กรอกข้อความเพื่อขอให้ผ่อนผันการจับกุม ย. ตามหมายจับของศาล และเพื่อการค้ำประกันการชำระหนี้ของ ย. ซึ่งถูก พ. ญาติโจทก์แจ้งความดำเนินคดีและพนักงานอัยการฟ้องในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต่อมาศาลพิพากษาจำคุก ย. พ. ไม่อาจเรียกเงินตามเช็คจาก ย. ได้ จึงให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ ดังนี้ จำเลยย่อมนำสืบข้อเท็จจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้เพราะเป็นการนำสืบถึงที่มาของการลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินเพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ หรืออีกนัยหนึ่งหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2541 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 600,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2541 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์อีก 1,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และกำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เช่นเดียวกับการกู้ยืมครั้งแรก จำเลยได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว แต่ไม่เคยชำระดอกเบี้ย และไม่ชำระเงินต้นคืนโจทก์ภายในกำหนด ยังคงค้างชำระเงินต้นทั้งหมดรวม 1,600,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,080,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากโจทก์ หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เดิมก่อนที่นางยุพาพิน พิมพ์น้อย จะมาอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย นางยุพาพินได้กู้ยืมเงินจากนายพานิช โชติวิทยา ญาติโจทก์ 1,600,000 บาท และได้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายพานิช แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน นายพานิชจึงแจ้งความดำเนินคดีแก่นางยุพาพิน ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาครยื่นฟ้องนางยุพาพินในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 964/2540 หมายเลขแดงที่ 229/2541 ของศาลชั้นต้น ซึ่งนายพานิชได้ร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และศาลชั้นต้นได้ออกหมายจับนางยุพาพินเนื่องจากไม่ไปศาลตามนัด นายพานิชมอบหมายให้โจทก์นำหมายจับไปจับกุมนางยุพาพินที่จังหวัดกาญจนบุรี จำเลยเจรจาตกลงกับโจกท์ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาญจนบุรีเพื่อขอให้ผ่อนผันการจับกุมนางยุพาพิน โจทก์จึงให้จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับสภาพหนี้อย่างละ 2 ฉบับ ที่ไม่ได้กรอกข้อความ และให้จำเลยออกเช็คอีก 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงิน 1,000,000 บาท และ 600,000 บาท เพื่อเป็นการค้ำประกันการชำระหนี้ของนางยุพาพิน แต่โจทก์กลับเรียกเงินตามเช็คเสียเอง และเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8285/2541 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8286/2541 ของศาลแขวงดุสิต ทั้งสองคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนางยุพาพิน 6 เดือน นายพานิชไม่อาจเรียกร้องเงินจากนางยุพาพินจึงให้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โดยโจทก์และจำเลยไม่มีหนี้ต่อกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 1 และ จ. 2 ซึ่งมีข้อความว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์และได้รับเงินไปแล้วในวันทำสัญญา มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากข้อความในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว เป็นการนำสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 1 และ จ. 2 จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากโจทก์ แต่จำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมอบให้โจทก์โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ เพื่อขอให้ผ่อนผันการจับกุมนางยุพาพิน พิมพ์น้อย ตามหมายจับของศาล และเพื่อเป็นการค้ำประกันการชำระหนี้ของนางยุพาพินซึ่งถูกนายพานิช โชติวิทยา ญาติโจทก์แจ้งความดำเนินคดีและพนักงานอัยการฟ้องในข้อหาความตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต่อมาศาลพิพากษาจำคุกนางยุพาพิน นายพานิชไม่อาจเรียกเงินตามเช็คจากนางยุพาพินได้ จึงให้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ดังนี้ จำเลยย่อมนำสืบข้อเท็จจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้ว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากโจทก์ และจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ. 1 และ จ. 2 เพื่อค้ำประกันหนี้ของนางยุพาพินที่มีต่อนายพานิช เพราะเป็นการนำสืบถึงที่มาของการลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินเพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ หรืออีกนัยหนึ่งหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์จำเลยจึงมีสิทธินำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย หาใช่เป็นการนำสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันจะเป็นการต้องห้ามมิให้นำสืบดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน จำเลยไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.